นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 67 มีการจัด ตั้งธุรกิจใหม่ ในเดือนก.ค. มีจำนวน 7,837 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 989 ราย หรือ 14% และทุนจดทะเบียน 23,704.59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 7,056.38 ล้านบาท หรือ 42%
ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 615 ราย ทุนจดทะเบียน 2,055.87 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 534 ราย ทุนจดทะเบียน 1,608.64 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 367 ราย ทุนจดทะเบียน 798.51 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,801.25 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจศูนย์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Center) บริการเชื่อมต่อโครงข่าย บริการดิจิทัลและบริการที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำการ ถนน สะพาน เขื่อนรวมทั้งงานโยธาอื่นๆ
ทั้งนี้ การจัดตั้งธุรกิจได้เข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2567 จะมีทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งเชิงบวกและมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนธุรกิจเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ นโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็น Tourism Hub ของโลกเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่เมืองหลักและเมืองรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้านที่มีความคืบหน้ารวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจล้วนมีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่
ส่วนการจดทะเบียนเลิกเดือน ก.ค.2567 มีจำนวน 1,890 ราย เพิ่มขึ้น 1.23% ทุนจดทะเบียน 8,831.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.31% เพราะการเลิกในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อจำหน่าย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 1,420.00 ล้านบาท
สำหรับยอดจะทะเบียนการจัดตั้งใหม่ 7 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 54,220 ราย เพิ่มขึ้น 0.16% ทุนจดทะเบียน 168,783.20 ล้านบาท ลดลง 62.10% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และบิ๊กซี โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,189 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
อย่างไรก็ตาม กรมคาดว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่มีต่อเนื่อง การอนุมัติการทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตรอยู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 90,000-98,000 ราย