ยุคถอยหลัง! เกียรตินาคินภัทรชี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคโตต่ำ 2% ศักยภาพกำลังถดถอยลง

ยุคถอยหลัง! เกียรตินาคินภัทรชี้ เศรษฐกิจไทย เข้าสู่ยุคโตต่ำ 2% ศักยภาพกำลังถดถอยลง

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง “เศรษฐกิจไทยสู่ยุคโตต่ำ 2%” โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าลงหลังโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงการโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่อาจเป็นเพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอยลง ในระยะข้างหน้า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ด้วย 3 เหตุผลหลัก ได้แก่ 1) ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ภายใต้ภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น 2) กำลังแรงงานที่ทั้งลดลงและแก่ตัวลง และ 3) ขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

โดย KKP Research ประเมินว่า ‘ศักยภาพ’ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจลดลงมาอยู่ที่เพียงต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงฉุดสำคัญ คือ แรงงานที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุดต่อปีจนถึงปี 2030 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในทศวรรษที่ 2040 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี โดยที่คงสมมติฐานให้การสะสมทุนและผลิตภาพเท่าเดิม และหากการสะสมทุนหรือผลิตภาพหดตัวลงด้วย จะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยจะต่ำลงไปได้ถึง 1.3% ต่อปีในปลายทศวรรษหน้า

นโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะยกศักยภาพเศรษฐกิจไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก นอกจากนี้ การปฏิรูปภาคการคลังและระบบภาษีก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในวันที่คนไทยกำลังแก่ตัวขึ้น ศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงทุกวิกฤต

KKP Research เสนอแนะว่ารัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ได้แก่
1) เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง
2) การเปิดเสรีภาคบริการ
3) เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร
และ 4) ปฏิรูปภาคการคลัง เนื่องจากความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ (สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ) และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles