องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยรายงานมีชื่อว่ามุมมองและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก 2025 นี้ พบว่าเศรษฐกิจโลกจะมีตัวเลขจีดีพีขยายตัวที่ระดับ 2.8% ซึ่งเท่ากับในปีผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวเลขคาดการณ์จีดีพีจะเติบโตเท่ากับในปี 2024 แต่เศรษฐกิจโลกยังคงตกอยู่ในภาวะที่ขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2010 หรือระหว่าง 2010-2019 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้เฉลี่ยที่ระดับ 3.2%
สาเหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐ และจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกจะชะลอตัว ถึงแม้ว่าในภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งสหรัฐและจีนจะไม่ชะลอตัวอย่างเลวร้ายก็ตาม ยูเอ็นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.9% ซึ่งลดลงจากในปีผ่านมาที่คาดว่าเติบโตที่ระดับ 2.8% เนื่องจากภาวะการจ้างงานลดต่ำลง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐที่ชะลอลง สอดรับกับเศรษฐกิจจีนถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ระดับ 4.8% ในปีนี้ ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากในปีผ่านมาที่คาดว่าจะเติบโตแตะระดับ 4.9% สาเหตุจากปัจจัยบวก คือ การลงทุนของรัฐบาล และการส่งออกของจีนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปชดเชยกับปัจจัยลบ ได้แก่ การบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เรื้อรังต่อไป
นอกจากนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การลงทุนที่ชะลอตัวลงถึงขั้นซบเซา การเติบโตของประสิทธิผลที่ยังคงอ่อนแอลง ภาวะหนี้สาธารณะสูง และปัจจัยกดดันจากโครงสร้างประชากรทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป จะขยายตัวในระดับที่สามารถชดเชยตัวเลขจีดีพีโลกได้ ยูเอ็นคาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปจะฟื้นตัวและเติบโตในปีนี้ที่ระดับ 1.3% จากในปี 2024 ผ่านไปที่ซบเซา และมีจีดีพีเพียง 0.9% สาเหตุจากภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้าเป้าหมาย และตลาดการจ้างงานที่ยืดหยุ่นสูงมากขึ้น รวมถึงภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ อินเดีย และอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ยูเอ็นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเอเชียใต้ในปี 2025 จะขยายตัวอย่างน่าทึ่งถึงระดับ 5.7% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นแตะระดับ 6.0% ในปี 2026 สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจอินเดียที่มีแนวโน้มขยายตัวที่ระดับ 6.6% และในปีหน้าจะขยายตัวไปถึงระดับ 6.8% เนื่องจากการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศที่สดใส รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรคของเนปาล ภูฏาน ปากีสถาน และศรีลังกา