รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู ออกแบบใหม่ ล้อประคองและรางจ่ายไฟฟ้า เตรียมเปลี่ยนยกชุด ป้องกันเหตุขัดข้องซ้ำ

รถไฟฟ้า สายสีเหลือง - ชมพู ออกแบบใหม่ ล้อประคองและรางจ่ายไฟฟ้า เตรียมเปลี่ยนยกชุด ป้องกันเหตุขัดข้องซ้ำ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในฐานะกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด และเหตุรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วง บริษัทได้มีการหารือร่วมกับ บริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และได้มีการออกแบบล้อประคองและรางจ่ายไฟฟ้าใหม่ พร้อมเตรียมแผนทดสอบและทยอยปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสาร

บริษัท อัลสตอม ผู้ผลิต ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ในส่วนของล้อประคอง เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยมีการออกแบบชุดล้อใหม่ให้มีตัวล็อกเพิ่มขึ้นอีกชั้น และผ่านการทดสอบที่โรงงานผลิตแล้ว ขณะนี้ได้นำล้อประคองชุดใหม่เข้ามาเพื่อดำเนินการทดสอบกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 1 ขบวน และสีชมพู 1 ขบวนก่อน เพื่อการเก็บข้อมูลไประยะหนึ่ง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หากผลออกมาเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยครบถ้วนแล้วจะเริ่มทยอยเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่นี้ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป โดยจะเปลี่ยนรถไฟฟ้าสายสีชมพู จำนวน 42 ขบวน และสายสีเหลืองจำนวน 30 ขบวน ครบหมดภายในปี 2568

ขณะที่ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงใช้ล้อประคองแบบเดิม แต่ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนชุดล้อประคองที่ผลิตในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมดแล้วซึ่งหลังเปลี่ยนการใช้งานก็มีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว โดยมีการเพิ่มความถี่ในการตรวจเช็ก ตรวจสอบอุปกรณ์ ตามที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้ามากำกับดูแล ซึ่งยังไม่พบปัญหาใดๆ

ส่วนรางจ่ายไฟฟ้านั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนใหม่เช่นกัน ซึ่งทางอัลสตรอมได้มีการออกแบบใหม่แล้ว จากเดิมที่เป็นรางจ่ายไฟฟ้าความยาวต่อเนื่อง 5-6 กม. จะปรับให้สั้นลง ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินผลข้อดี ข้อเสีย รวมถึงค่าใช้จ่าย

กรณีรางจ่ายไฟฟ้า การออกแบบเดิมจะให้รางจ่ายไฟฟ้ามีความยาวมากที่สุดโดยเฉพาะทางตรงเพื่อลดรอยต่อเชื่อมน้อย แต่เมื่อมีปัญหาเกิดการเกี่ยวรั้งรางจะหลุดออกมาตลอดแนวหลาย กม.ทำให้มีผลกระทบต่อการเดินรถ ส่วนการปรับระยะรางให้สั้นลงอาจทำให้มีรอยต่อเชื่อมเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการดูแลซ่อมบำรุงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ทางอัลสตอมอยู่ระหว่างประเมินและวิเคราะห์ ทางเราอยากเปลี่ยนใหม่แต่ทางผู้ผลิตต้องสรุปข้อดี ข้อเสีย และค่าใช้จ่ายอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 7 หมื่นคน/วัน แนวโน้มถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีช่วงกลางปี 2568 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นคน และหากมีกิจกรรมงานในเมืองทองธานีจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ผู้โดยสารเฉลี่ย 4-5 หมื่นคน/วัน แนวโน้มการเติบโตไม่มากนัก โดยในภาพรวมผู้โดยสารสายสีเหลืองและสีชมพูยังถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ที่ประเมินไว้กว่า 1 แสนคน/วัน และต่ำกว่าผลการศึกษาที่ รฟม.คาดไว้กว่า 2 แสนคน/วัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงานที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด รวมถึงปัญหารถติดที่ลดลง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles