รฟม. แจงเวนคืนที่ดินย่านประชาสงเคราะห์เท่าที่จำเป็นสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการ เวนคืนที่ดิน บริเวณชุมชนย่านประชาสงเคราะห์ เพื่อก่อสร้างโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินบริเวณดังกล่าวนั้น

รฟม.ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า พระราชกฤษฎีกาเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ได้มีการกำหนดแนวเขตที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาไว้ข้างละ 100 เมตร ตลอดแนว เพื่อให้มีความกว้างครอบคลุมพื้นที่ที่คาดว่าจะต้องเวนคืน

โดย รฟม.จะเวนคืนพื้นที่เท่าที่จำเป็นเพื่อการก่อสร้างเท่านั้น สำหรับพื้นที่ก่อสร้างสถานีจะมีความกว้างประมาณ 60 เมตร และพื้นที่ก่อสร้างทางวิ่งจะมีความกว้างประมาณ 20 เมตรรวมทั้ง รฟม.มีแผนจะเข้าสำรวจพื้นที่ชุมชนย่านประชาสงเคราะห์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป (รฟม. จะมีหนังสือแจ้งวันเข้าทำการสำรวจให้เจ้าของทรัพย์สินทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 15 วัน) และเจ้าหน้าที่ผู้เข้าสำรวจจะชี้แจง เผยแพร่ข้อมูล สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเวนคืนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทราบ

พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ การกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนจะกำหนดโดยคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและเงินค่าทดแทน ประกอบด้วย ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนกรมที่ดิน นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งราคาค่าทดแทนที่ดินจะกำหนดโดยคำนึงถึงราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด รวมถึงเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนเพื่อให้ค่าทดแทนมีความเหมาะสมและเป็นธรรมดังที่ได้ดำเนินการมาแล้วในโครงการที่ผ่านมาของ รฟม.

สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า รฟม. สามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตลอดจนสิทธิ หน้าที่ และผลประโยชน์ของผู้ถูกเวนคืน ด้วยตนเองได้จากเว็บไซต์ รฟม. (www.mrta.co.th) เมนู สื่อเผยแพร่ -> แผ่นพับและวีดิทัศน์ -> แผ่นพับความรู้สำหรับประชาชนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างโครงการหรือสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่าง

รฟม.ขอยืนยันว่า รฟม.จะปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างครบถ้วน และคำนึงถึงประโยชน์ต่อชุมชนและสาธารณะเป็นสำคัญ โดยเมื่องานก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ระดับดินเป็นถนนทางวิ่งรถยนต์เหนือโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเป็นทางสัญจรได้ต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles