นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 20 ปีผ่านมา ประเทศไทยขาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี หรือมีจีดีพีขยายตัวสูงถึง 6% การลงทุนจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 40% ต่อจีดีพี เป็นผลจากการลงทุนต่างประเทศ และเงินลงทุนจากเครือข่ายการผลิตของไทย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของไทยกลับมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 20-22% เท่านั้น โดยเฉพาะปี 2566 ที่ผ่านมา ตกต่ำกว่า 20% สะท้อนว่าประเทศไทยขาดการลงทุน สำหรับอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่า 1% ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อการลงทุนน้อย จีดีพีประเทศไทยต่ำ ทำให้มีการลงทุนต่ำ การจ้างงานน้อย หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน และรถยนต์ ขณะที่นักธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีเกิดปัญหามากมาย มีภาระหนี้สูงขึ้น และทำให้ทั้งครัวเรือนและเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
การลงทุนในประเทศไทยที่ต่ำไม่ใช่เพราะไม่มีเงิน แต่เป็นผลจากตัวเลขจีดีพีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่ำมาก โดยเฉลี่ยแค่ 1.9% เท่านั้น ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด มีการขยายตัว 0.4% และปีที่ผ่านมาขยายตัว 1.9% ขณะที่ปี 2567 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.7% ก็ยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ทราบจะทำอย่างไร จึงต้องควักงบประมาณมาอุดหนุน สิ่งที่สะท้อนคือภาวะหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้น 9-10 ปีที่ผ่านมา หนี้รัฐบาลอยู่ที่ 48% ต่อจีดีพี หรือใกล้ๆ 5 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน จีดีพีขยายตัวขึ้นอยู่ที่ 18 ล้านล้านกว่าบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพี 65-66% ต่อจีดีพี หรือ ใกล้ๆ 12 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึง พื้นที่ทางการคลังมันต่ำ ถ้าจะให้กู้ไปเรื่อยๆ เพราะมันต่ำก็ไม่ได้ เพราะต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ซึ่งเหลือช่องว่างอีก 3-4% เท่านั้น
ในระยะต่อไป ประเทศไทยจะต้องมีการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการลงทุนต่ำเพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไม่เกิดการลงทุน หรือ ลงทุนแล้วไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น อยากเห็นจีดีพี อยากเห็นวิ่งไป 3-3.2% แต่อยากเห็นจริงๆ 3.5% หากทำได้ ส่วนกรอบเงินเฟ้อ 2% หรือมากกว่า 2% ส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 70% ภายใน 4 ปีข้างหน้า ไม่เกิน 15 ล้านล้านบาท จาก 12 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
สำหรับการดึงดูดการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาไทยนั้น จะต้องเตรียมความพร้อม ประกอบด้วย บุคลากรที่จะเข้าไป จะต้อง Upskill – Reskill การศึกษารต้องปรับให้เหมาะสมกับคนที่จะเข้า ด้านพลังงานนอกจากจะถูก จะต้องเป็นสีเขียว และความง่ายในทำธุรกิจ เป็นเรื่องกลไกต้องปรับปรุง ปัญหาภาครัฐที่ต้องปรับ ระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐต้องแก้ไข รวมถึงระบบเงินออมในประเทศที่ประชาชนอีกเยอะที่ไม่เงินออม จะสร้างอย่างไร
ขณะที่นโยบายการคลังที่รัฐจะนำมาใช้ จะต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน โดยจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำในอนาคตเพิ่มเติม จะต้องมีทั้งการลงทุนการขนส่ง แลนด์บริดจ์ , เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ , การทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปรับลดค่าโดยสารให้อยู่ในระดับต่ำ 20-25 บาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน , ทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อนำที่ดินของรัฐมาสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ต่ำ เป็นต้น