นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับวันที่จะนัดเจรจากับทางการสหรัฐนั้น ขณะนี้ทางเรากำลังรออยู่ โจทย์ของไทย คือต้องแก้ไขเรื่องดุลการค้า ปัจจุบันไทยได้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากถึง 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะเดียวกัน จะต้องมาพิจารณาว่า มีเรื่องใดบ้างที่มีข้อกฎเกณฑ์ที่ไม่สะดวก ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานของไทยไม่ซ้ำซ้อน เพื่อความคล่องตัวในการค้าขายกับสหรัฐ รวมถึงชาติอื่นๆด้วย
สำหรับปัญหาที่แท้จริงของสหรัฐ คือต้องการแก้ไขปัญหาเสียดุลการค้า ดึงฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำต่อจากนี้ คือพิจารณาว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาภาษี ที่ประเทศไทยจะต้องได้รับประโยชน์ และขอให้มั่นใจว่าวิธีการแก้ไขปัญหานี้จะเป็นผลดีของทั้งสองฝ่าย เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยกระดับการทำงานและการผลิตของไทย ยอมรับแม้ว่าจะเป็นวิกฤติที่น่าหนักใจแต่ก็ถือว่ายังมีโอกาสในการยกระดับการค้าของไทยให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยไม่ได้เป็นการลดภาษีให้กับสหรัฐ แต่จะทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าไทยน้อยลง คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปีในการปรับสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ
ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบนั้น เชื่อว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้งโลก แม้ว่าไทยจะได้มีการเจรจา และได้รับการผ่อนปรน แต่ไทยยังมีการค้าขายกับประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งได้รับกำแพงภาษีเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการจัดสมดุลใหม่ของโลก ซึ่งหลายประเทศก็มีจุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกันตามแผนงานดังนี้
1.นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้นโดยเน้นสินค้าที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร และเครื่องในสุกร รวมทั้งสินค้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำในสหรัฐ
2.ลดหรือยกเว้นภาษีให้กับสินค้าสหรัฐที่ไทยเก็บภาษีได้ไม่สูงนัก โดยมีการจัดเก็บรายได้ต่อปีไม่มากนักอยู่แล้ว กว่า 100 รายการ
3.ยกเลิกมาตรการที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non tariff barrier) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าสหรัฐมากขึ้น
4.การให้ความสำคัญกับการคัดถิ่นกำเนิดสินค้าที่มาใช้ไทยเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าจากไทยและส่งออกไปยังสหรัฐ
5.การสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพให้ไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น เช่น ภาคเกษตร ภาคพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐที่สนับสนุนในเรื่องนี้