ระบบบำนาญหลังเกษียณของไทยสอบได้เกรด C ต่ำกว่าเวียดนาม แย่สุดในกลุ่มเกรด C รองรั้งท้ายของอาเซียน สิงคโปร์มีระบบบำนาญดีที่สุดในเอเชียและอาเซียน

ระบบบำนาญ หลังเกษียณของไทยสอบได้เกรด C ต่ำกว่าเวียดนาม แย่สุดในกลุ่มเกรด C รองรั้งท้ายของอาเซียน สิงคโปร์มีระบบบำนาญดีที่สุดในเอเชียและอาเซียน

สถาบันซีเอฟเอ เมอร์เซอร์ เปิดเผยผลการจัดค่าดัชนีระบบบำนาญทั่วโลกครั้งที่ 16 หรือ Mercer CFA Institute Global Pension Index ประจำปี 2024 ซึ่งจัดทั้งหมด 48 ประเทศทั่วโลก พบว่าในกลุ่มประเทศแถบเอเชียนั้น ประเทศไทยได้ค่าดัชนีเท่ากับ 50.0 จุด ไม่เพียงอยู่ในกลุ่มเกรด C แต่ยังเป็นอันดับสุดท้ายในกลุ่มเกรด C ซึ่งหมายถึงมีระบบที่แย่ที่สุดใน 5 ชาติชั้นนำอาเซียน ที่สำคัญยังเป็นรองสุดท้ายใน 6 ชาติอาเซียนอีกด้วยเมื่อนับรวมประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ในกลุ่มเกรด D ที่สำคัญ ประเทศไทยอยู่เหนือประเทศแอฟริกาใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ 49.0 จุด ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับแรกสุดของกลุ่มเกรด D ซึ่งเป็นกลุ่มท้ายสุดของการจัดอันดับปีนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มอาเซียน โดยตามหลังประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ได้ค่าดัชนีที่ 78.7 จุด (เป็นชาติเดียวของเอเชีย และอาเซียนที่อยู่ในกลุ่มเกรด B) ประเทศมาเลเซียอยู่อันดับ 2 ได้ค่าดัชนีที่ 56.3 จุด อันดับ 3 ประเทศเวียดนาม ได้ค่าดัชนีที่ 54.5 จุด และอันดับ 4 ประเทศอินโดนีเซีย ได้ค่าดัชนีที่ 50.2 จุด อย่างไรก็ตาม ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทยอยู่ในกลุ่มเกรด C ทั้งหมด

สำหรับการจัดอันดับระบบเกษียณของประเทศชั้นนำในเอเชียและอาเซียนปี 2024 มีทั้งหมด 12 ประเทศ ดังนี้

  1. สิงคโปร์ (5) เกรด B+ คะแนน 78.7
  2. ฮ่องกง (25) เกรด C+ คะแนน 63.9
  3. จีน (31) เกรด C+ คะแนน 56.5
  4. มาเลเซีย (32)เกรด C คะแนน 56.3
  5. ญี่ปุ่น (36) เกรด C คะแนน 54.9
  6. เวียดนาม (37) เกรด C คะแนน 54.5
  7. ไต้หวัน (39) เกรด C คะแนน 53.7
  8. เกาหลีใต้ (41) เกรด C คะแนน 52.2
  9. อินโดนีเซีย (42)เกรด C คะแนน 50.2
  10. ไทย (43) เกรด C คะแนน 50.0
  11. ฟิลิปปินส์ (46)เกรด D คะแนน 45.8
  12. อินเดีย (48)เกรด D คะแนน 44.0

สำหรับบการจัดอันดับระบบเกษียณของ 10 ประเทศทั่วโลกปี 2024 มีทั้งหมด 12 ประเทศ ดังนี้

  1. เนเธอร์แลนด์ (84.8 คะแนน)
  2. ไอซ์แลนด์ (83.4คะแนน)
  3. เดนมาร์ก (81.6 คะแนน)
  4. อิสราเอล (ทั้ง 4 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มเกรด A)
  5. สิงคโปร์
  6. ออสเตรเลีย
  7. ฟินแลนด์
  8. นอร์เวย์ (ทั้ง 4 ประเทศนี้ อยู่ในกลุ่มเกรด B+)
  9. ชิลี
    และ 10. สวีเดน (ทั้ง 2 ประเทศนี้ อยู่ในกลุ่มเกรดบี)

ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินตามเกณฑ์พิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณ ประชากรมีกำลังใช้จ่ายได้เหมาะสม 2. ความยั่งยืนของระบบเกษียณ สามารถส่งมอบต่อไปในอนาคตได้ 3. ความสมบูรณ์มั่นคงของระบบบำนาญหลังเกษียณที่สามารถเชื่อถือได้ และยังนำมาเทียบกับตัวชี้วัดอื่นๆ อีกมากกว่า 50 รายการ ขณะที่แหล่งที่มาของรายได้หลังเกษียณอายุจากภาครัฐและภาคเอกชนใน 48 ประเทศ ซึ่งครอบคลุม 65% ของประชากรโลก รวมถึงใช้ข้อมูลที่อัปเดตจาก OECD และข้อมูลจากหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย

นายแพท ทอมลินสัน ประธาน และสถาบันซีเอฟเอ เมอร์เซอร์ ซีอีโอ เปิดเผยว่า โลกในปัจจุบันมีอัตราประชากรเกิดใหม่ลดลง ท่ามกลางผู้สูงวัยมีอายุขัยที่ยืนยาวเพิ่มขึ้น การจะดูแลประชากรในภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้นั้น ระบบบำนาญหลังเกษียณที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรสร้างระบบรายได้หลังเกษียณของภาคเอกชนและภาครัฐให้สอดคล้องกันอย่างแน่นแฟ้น เพิ่มความคุ้มครองให้พนักงาน และสนับสนุนให้แรงงานสูงวัยมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวสำหรับผู้เกษียณอายุให้มีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ช่วยให้สมาชิกในระบบบำนาญได้มีรายได้และการเป็นอยู่ที่ดีที่สุด

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles