นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่มกว้างขึ้น นำคนเข้าระบบเสียภาษีให้มากขึ้น รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณขาดดุลลดต่ำลงได้ งบประมาณปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 4.4% ของจีดีพี อาจลดเหลือแค่ 3.5% หรือรัฐบาลนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
ดังนั้น แนวทางเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล คือ ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาทำธุรกิจ แต่ยื่นแบบรายได้ของธุรกิจให้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ในขณะที่กรมสรรพากรอนุญาตให้หักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ เช่น ธุรกิจที่ยื่นแสดงรายได้ต่อปี 1.5 ล้านบาท กรมสรรพากรอนุญาตให้หักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ 60% ส่วนที่เหลือนำมาเสียภาษี ก็กลายเป็นว่าคนกลุ่มนี้เสียภาษีปีละหมื่นกว่าบาทเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในกรณีที่ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เช่น อาจมีรายได้ 1.5 ล้านบาท อาจจะเพิ่มเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวตประเภทที่ 2 เหมือนกรณีประเทศในยุโรปทำกัน โดยอาจขอเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ของรายได้ 1.5 ล้านบาท ดังนั้น จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการลดรายจ่ายของรัฐบาลทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่มีข้าราชการเกือบ 3 ล้านคน จึงจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ด้านอื่น ปัจจุบันการจัดเก็บจากภาษีของรัฐบาลทำได้เพียง 15.5% ของจีดีพีเท่านั้น แตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลเคยจัดเก็บจากภาษีได้สูงถึง 17%