นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ในการเสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) สาระสำคัญตอนหนึ่งว่าในเรื่องของพลังงานสะอาดตอนนี้หลายประเทศก็ยังมีการพูดถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นพลังงานที่ราคาถูก และสะอาดที่สุด
“ประเทศไทยในตอนนี้นั้น เราไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้แต่ว่าหลายประเทศนั้นมีเทคโนโลยีอยู่ทั้งสหภาพยุโรป (EU) ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเก็บข้อมูลไว้ก่อน เพื่อที่ในอนาคตหากที่จะต้องตัดสินใจ ก็จะสามารถที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง” นายเศรษฐา กล่าว
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน หัวข้อ “ทิศทางพลังงานไทยปี 2567” ว่าอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพลังงานชาติที่ต้องบูรณาการ 5 แผนย่อยเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)
2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)
4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ทั้งนี้ หัวใจหลักคือการปรับปรุงแผน PDP โดยเฉพาะสัดส่วนก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงานจะต้องมีสัดส่วนเท่าไร โดยคาดว่าแผน PDP จะสามารถเปิดประชาพิจารณ์ได้ปลายเดือน ก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค.นี้ เบื้องต้นจะต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 70% และปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซออกไป ซึ่งจะอยู่ในตัวเลือกของ 7-8 สมมติฐาน อาทิ เรื่องของราคาไฟแพง ราคาก๊าซที่ลดลง เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ดังนั้นเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงจะต้องนำมาประชาพิจารณ์สาธารณะ เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนที่ยังมีเป็นประเด็นตัวอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่เคยมีปัญหา โดยจะต้องปรึกษานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก่อน