รัฐมนตรีแรงงาน เล็งขยายอายุเกษียณการทำงาน เป็น 65 ปี ดึงต่างด้าว แผงลอย อาชีพอิสระเข้าระบบประกันสังคม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ามีแนวทางที่จะขยายอายุเกษียณการทำงาน 55 ปีในบริษัทเอกชน อาจจะขยายไปถึง 65 ปี และส่วนราชการ ขยายไปถึง 65 ปีเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันคนดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น และความเจริญทางการแพทย์ เหมือนเช่นสิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ โดยจะดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ. ประกันสังคม รวมถึงเพิ่มผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างชาติ อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา จำนวน 2 ล้านคน จากปัจจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าระบบประกันสังคมเพียง 1.5 ล้านคน โดยที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานเถื่อนจำนวนมาก ดังนั้น ได้ให้กรมการจัดหางานทำงานเชิงรุก เข้าไปตรวจสอบ โดยอาจเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียน หากยังไม่มาลงทะเบียนอีกจะส่งกลับประเทศต้นทาง

อีกทั้งยังมีผู้ที่มีอาชีพอิสระที่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนขับรถแท็กซี่ ไรเดอร์ รวมถึงกลุ่มที่กฎหมายปัจจุบันได้รับการยกเว้น ได้แก่ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์, ลูกจ้างทำงานบ้าน และลูกจ้างผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ก็จะให้เข้ามาระบบประกันสังคม ม.40

นอกจากนี้ จะเสนอให้ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 2% รัฐบาล 2.5% รวม 3 ฝ่าย 6.25% ซึ่งจะดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยจะมีการเสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและส่งเรื่องไปที่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

รวมถึงจะปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างอย่างต่อเนื่องตามค่าเงินเพื่อสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอของผู้ประกันตน โดยจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงในประเด็นนี้

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือผู้เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม ที่มีแนวคิดให้จัดการค่าใช้จ่ายผันแปร (Floating Cost) ที่เป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่หากเราทำเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) โดยให้บริษัทประกันภัยเข้ามาดูแลแทน โดยกองทุนเข้าไปซื้อประกันแล้วให้บริษัทประกันมาดูแลรับผิดชอบ ก็จะทำให้กองทุนประกันสังคมจะมีค่าใช้จ่ายต่ำลง และช่วยให้การวางแผนบริหารกองทุนทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ซึ่งมีประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี

สำหรับการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ให้เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 68 จากปี 66 ที่มีผลตอบแทนอยู่ในระดับ 2.3-2.4% หากทำได้จะยืดอายุเงินกองทุนประกันสังคมไปอีก 3-4 ปี โดยอดีตอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งหลังจากได้คณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่เมื่อปลายปี 66 มีแนวคิดให้กองทุนประกันสังคมลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้ก็ได้เริ่มลงทุนในสหรัฐและยุโรป ให้ผลตอบแทนราว 6-7% เพื่อมาเฉลี่ยกับสินทรัพย์ลงทุนในไทย ดึงให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงขึ้น และมีโอกาสขยายลงทุนสินทรัพย์ได้ไม่ต่ำกว่าระดับ BBB ที่จะให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้ด้วย โดยในปัจจุบันกองทุนมีผลตอบแทนสูงขึ้นมาที่ 2.7%

ทั้งนี้ ในปีหน้ากองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนในไทยมาเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำราว 65% ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก เป็นต้น และอีก 35% ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้นในประเทศ ลงทุนผ่านกองทุนหุ้นในต่างประเทศ และลงทุนอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมลงทุน 70/30 เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำมาก และเป็นตลาดที่อ่อนไหวมาก

“เราจะไม่พยายามไปลงทุนเอง(หุ้นในต่างประเทศ) แต่เราจะลงทุนผ่านกองทุน เพราะเราคงไม่มีปัญญาไปวิเคราะห์ในหุ้นแต่ละตัวแต่ละประเทศซึ่งเราวิเคราะห์ไม่ไหว ซึ่งวันนี้เราเห็นแล้วว่าเราลงทุนในประเทศไทย 70% ผลตอบแทนมันต่ำ แต่ตอนนี้เราสามารถดึงผลตอบแทนขึ้นมาได้ 2.7% เพราะวันนี้เราลงทุนต่างประเทศได้กำไรค่อนข้างดี โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปีนี้มีผลตอบแทนถึง 10%”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ไป เมื่อเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลที่ถืออยู่ครบกำหนดก็จะผลักเม็ดเงินออกไปลงทุนตลาดหุ้นในต่างประเทศผ่านกองทุนรวม เพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก็จะต้องผ่านขั้นตอนจนถึงบอร์ดประกันสังคมที่จะอนุมัติการลงทุนที่เห็นสมควร

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles