ราคาทองคำ ในไทย ผันผวนปรับราคา 6 รอบ ปิด +50 บาท รูปพรรณขายออก 41,100 บาท 

ราคาทองคำ

สมาคมค้าทองคำประกาศ  ราคาทองคำ ในไทย ปิดตลาดวันนี้ปรับราคา 6 ครั้ง ปิดสิ้นวันปรับราคาปรับขึ้น 50 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งรับซื้ออยู่ที่บาทละ 40,500 บาท ขายออก 40,600 บาท ส่วนราคาทองคำรูปพรรณ รับซื้ออยู่ที่บาทละ 39,764.68 บาท และขายออกที่ราคา 41,100 บาท 

โดยทองไทยอ้างอิงราคาทองคำโลก หรือ Gold Spot อยู่ที่ 2,589 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 33.13 บาท/ดอลลาร์

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ทำการปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 0.50% และส่งสัญญาณผ่าน Dot Plot เปิดช่องทางการปรับลดดอกเบี้ยได้อีก 0.50% รวมทั้งสิ้นปีนี้ที่ 1.00% จึงมาเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ แม้ว่าล่าสุดราคาทองคำจะถูกขายทำกำไรออกมาในระยะสั้น หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยถูกกดดันระยะสั้นทันทีที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เผยถ้อยแถลง ที่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมพยายามบรรเทาตลาดไม่ให้ตื่นตระหนกต่อการปรับลดดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% โดยกล่าวว่า เป็นเพียงเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดแรงงานสหรัฐเอาไว้เท่านั้น ไม่ได้เห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีมองว่าภายในปีนี้ทองคำมีโอกาสทำจุดสูงใหม่ โดยวายแอลจี มองราคาเป้าหมายใหม่ที่ 2,650-2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เนื่องจากการเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลงไปอีก 2 ปีของเฟด จะเป็นปัจจัยหนุนหลักในระยะยาวต่อราคาทองคำ

นอกจากนี้ทองคำยังมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ที่แข็งแกร่ง เช่น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาตร์ ที่ยังสร้างความกังกลในหลายพื้นที่ และการกลับเข้ามาซื้อทองคำ 4 เดือนต่อเนื่อง ของกองทุน ETF ทองคำ ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ส.ค. ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นที่เริ่มมีนัยสำคัญ รวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนช่วงครึ่งปี 2567 ได้เข้าซื้อทองคำรวม 483.3 ตัน สูงสุดในประวัติศาสตร์ครึ่งปีแรก

สำหรับราคาทองคำในประเทศในช่วงนี้แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาท ที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทุกครั้งที่ค่าเงินบาทแข็งค่า 10 สตางค์ จะทำให้ราคาทองคำปรับลดลงมาราว 90-120 บาทต่อบาททองคำ ทุกครั้งที่เงินบาทแข็งค่าจึงกดดันให้ราคาทองคำในประเทศปรับลดลง อย่างไรก็ตามถ้าบาทไม่แข็งค่าเกิน 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองว่าเป็นจุดรับ เพราะทองคำมีโอกาสที่ทองคำจะไปถึง 41,800 บาทต่อบาททองคำ และเป้าหมายถัดไปที่โซน 42,600-43,000 บาทต่อบาททองคำ

อย่างไรก็ดีสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงด้านค่าเงินไม่ได้สูง วายแอลจีแนะนำให้ลงทุนผ่าน YLG Gold Wallet บนแอปฯเป๋าตัง ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่ต้องการซื้อทองคำในราคาตลาดโลกแบบเรียลไทม์ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่ให้บริการซื้อขายทองคำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ด้วยราคาเรียลไทม์ซื้อ – ขาย ทองต่อครั้งด้วย ขั้นต่ำ 0.1 ออนซ์ สูงสุดแบบเต็มเพดาน ได้สูงสุดถึง 700 ออนซ์ หรือ 20 กิโลกรัมเพิ่มทางเลือกในการซื้อ – ขายทองคำความบริสุทธ์ 99.99 ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเลือกดีไซน์ทองได้มากกว่า สามารถเลือกรับทองคำจริงได้ทั้งเหรียญทองคำและทองแท่ง ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปลงทุนทองคำในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า และมองว่าการลงทุนสะสมแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน DCA (Dollar-Cost-Average) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้นักลงทุนสามารถสร้างวินัยการออม และเข้าถึงราคาทองได้หลากหลาย อีกทั้งปัจจุบันยังสามารถตั้งเวลาซื้อล่วงหน้าได้อีกด้วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles