สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี จำกัด ประกาศแจ้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรว่า ในวันนี้ 23 เมษายน 2567 สหกรณ์ปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้นอีก 4 บาทต่อกิโลกรัมต่อเนื่องจากเมื่อวันพระที่ 16 เมษายน 2567 ผ่านมา โดยภาคตะวันออก แจ้งประกาศราคาแนะนำสุกรขุนจากเดิมอยู่ที่ 76 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น ราคาจะขึ้นไปอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงราคา ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรีฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มว่า ในสัปดาห์ที่ 15/2567 ตรงกับวันพระที่ 8 เมษายน 2567 ได้ปรับขึ้นราคากิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคมเป็นต้นมา จากก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 4 บาท ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 และวันที่ 8 เมษายน 2567 ก่อนหน้าจะถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้นเป็นการปรับขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัม
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 เมษายนผ่านมา นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมฯดูแลทั้งผู้บริโภคและเขียงหมู ไม่ได้ปล่อยปละละเลย และพยายามทำทุกวิถีทางให้ทุกภาคส่วนได้รับราคาที่เป็นธรรม ทั้งที่ผู้เลี้ยงยังไม่สามารถขายหมูหน้าฟาร์มได้ตามราคาแนะนำ ซ้ำร้ายยังมีภาระขาดทุนสะสมนานกว่า 1 ปี จนเกษตรกรหลายรายต้องทิ้งอาชีพไปเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียน” นายสิทธิพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ สมาคมประกาศราคาแนะนำสุกรหน้าฟาร์ม เป็นประจำทุก ๆ วันพระ ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา มีการปรับราคาขึ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้จริงเพียง 65 บาทเท่านั้นขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรตามประกาศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คือ 78-80 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจึงยังอยู่ในภาวะขาดทุนสูง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มีนาคมผ่านมาว่า ต้นทุนการผลิตสุกรโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ตามทิศทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ราคาสุกรในกลุ่มผู้ผลิตรายสำคัญของโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ไม่ว่าจะเป็นจีน บราซิล เดนมาร์ก สะท้อนได้จากราคาสุกรเฉลี่ยในกลุ่มประเทศดังกล่าว ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ปรับลดลงราว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน สำหรับในประเทศไทย ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสุกร มีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลีและปลาป่น ช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อการผลิตสุกรลง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตสุกรยังกลับมาไม่เต็มที่ สะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2566 ปริมาณผลผลิตสุกรอยู่ที่ 17.5 ล้านตัว แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.8 ล้านตัว แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาด ASF ซึ่งจะเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22 ล้านตัว โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่จูงใจต่อการเพิ่มผลผลิตสุกร
โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ 66 บาท/กก. หดตัว 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาขายปลีกเนื้อหมูเฉลี่ยในประเทศให้ยังคงปรับลดลงตาม โดยมีระดับราคาอยู่ที่ 164 บาท/กก. หดตัว 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ต้นทุนการผลิตสุกรอื่นๆ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้อีก อาทิ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน เป็นต้น ด้วยต้นทุนการผลิตสุกรที่ยังคงมีความผันผวน ขณะที่ราคาขายสุกรยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตสุกรของเกษตรกร สะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2566 ต้นทุนการการผลิตสุกรอยู่ที่ 87.5 บาท/กก. ขณะที่ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ 78.0 บาท/กก. ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกรขาดทุนราว 9.5 บาท/กก.