ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ สว.มธ. (TU-RAC) โดยเปิดเผยรายงานการวิจัยหัวข้อ ความท้าทายของคนขับผู้ให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย” (Ride-Hailing Drivers’ Challenges in Thailand) พบว่า คนขับรถให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นราว 49% ใช้รถยนต์ที่ผ่อนกับสถาบันการเงิน หรือเข้าไฟแนนซ์ มีถึง 47% ขับรถยนต์ของบุคคลอื่น ซึ่งที่ไม่ได้เป็นชื่อของตนเอง ส่งผลให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนรถบริการสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก
ผลสำรวจยังพบว่า คนขับรถยนต์บริการขนส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันนั้น มีถึง 64% ทำงานดังกล่าวเป็นงานเสริม หรืองานพาร์ทไทม์ ขณะที่ 36% เลือกทำงานดังกล่าวเป็นอาชีพหลัก ในแง่เหตุผลนำรถยนต์มาให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน ระบุว่า 74% เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ รองลงมา 52% ระบุว่าเป็นการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และ 49% ระบุว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
คนขับรถยนต์ดังกล่าวราว 2 ใน 3 หรือ 71% อยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีตัวเลือกประกันภัยสำหรับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ที่เทียบเท่ากับประกันส่วนบุคคล นอกจากนี้มี 52% อยากให้มีการลดขั้นตอนและปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนให้สะดวกมากขึ้น รวมถึงมี 47% เสนอให้มีการปรับระเบียบเพื่ออนุญาตให้คนขับที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถสามารถจดทะเบียนได้
สำหรับข้อจำกัดที่ทำให้คนขับรถยนต์ไม่สามารถนำรถยนต์ไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้นั้น มีถึง 49% ระบุว่าเป็นการใช้รถยนต์ที่ติดไฟแนนซ์ และไม่สามารถนำสมุดคู่มือมาดำเนินการได้ อีก 47% มองว่าปัจจุบันใช้รถยนต์ที่ไม่ได้มีชื่อตนเองเป็นเจ้าของ และ 41% มีความกังวลว่าหากนำรถยนต์ไปขึ้นทะเบียนแล้ว ทำให้ประกันภัยที่มีอยู่เดิมอาจใช้งานต่อไม่ได้ สุดท้ายมี 37% รู้สึกว่าขั้นตอนและกระบวนการในการจดทะเบียนมีความซับซ้อน
ทั้งนี้ มี 71% ต้องการให้ภาครัฐบาลสนับสนุนให้มีตัวเลือกประกันภัยสำหรับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่เทียบเท่ากับประกันส่วนบุคคค เช่น ประกันชั้น 1 และชั้น 2 มีถึง 52% อยากให้มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการจดทะเบียนให้สะดวกมากขึ้น โดยใช้สำเนาใบจดทะเบียนรถในการจดทะเบียนได้ มี 47% เสนอให้มีการปรับระเบียบเพื่ออนุญาตให้คนขับที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถตัวจริงสามารถจดทะเบียนได้ และ 44% อยากให้มีการควบคุมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไฟแนนซ์ไม่ให้แพงเกินไป