วัยรุ่นจีนเจนซีรู้สึกเศรษฐกิจไม่ดี ทำคลิปแจงวิธีเก็บเงิน ใช้เงินค่าอาหารเดือนละ 1,500 บาท

93
0
Share:
วัยรุ่น จีน เจนซี รู้สึกเศรษฐกิจไม่ดี ทำคลิปแจงวิธี เก็บเงิน ใช้เงินค่าอาหารเดือนละ 1,500 บาท

อินฟลูเอนเซอร์วัยรุ่นชาวจีน ซึ่งมีอายุ 26 ปี อยู่ในช่วงปลายกลุ่มเจนซี (Z) ใช้ชื่อว่า ลิตเติ้ล จ้าย จ้าย ( Little Zhai Zhai) เปิดเผยว่า ได้กำหนดการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอาหารที่ 300 หยวน/เดือน หรือราว 1,500 บาท โดยตัวเธอเองได้ทำคลิปวิดีโอ เล่าว่าในแต่ละวันนั้น จะจัดการค่าใช้จ่ายอาหารยังไงให้อยู่ในงบวันละ 10 หยวนด้วย ในเวลาเดียวกัน สื่อโซเชียลในประเทศจีน มีการทำคลิปแนะนำเทคนิคต่าง ๆ เพื่อการใช้ชีวิตให้ประหยัดมากขึ้น เช่น คลิปเกี่ยวกับการรับประทานอาหารตามร้านในย่านชุมชนที่มีราคาถูก โดยปกติแล้ว ร้านอาหารในย่านเหล่านี้มักมีแต่ผู้สูงอายุเข้าไปใช้บริการ

นายชอน เรน กรรมการผู้จัดการ ไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป กล่าวว่า ย้อนกลับไปกับวัยรุ่นชาวจีนในช่วงทศวรรษ 2010 มักจะใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หามาได้ นอกจากนี้ ยังกู้เงินมาซื้อสินค้าหรูหรา เช่น กระเป๋าแบรนด์เนมกุชชี่ และไอโฟน แต่ในปัจจุบัน พบว่าวัยรุ่นชาวจีนกลับเริ่มออมเงินมากขึ้น หรือที่พูดกันติดตลกว่า ออมเงินล้างแค้น แทนที่จะใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยด้วยการซื้อสินค้าตามอารมณ์ แต่วัยรุ่นชาวจีนกลับออมเงินอย่างบ้าคลั่ง วัยรุ่นชาวจีนทำคลิปออกมาประกาศเป้าหมายการออมเงินในแต่ละเดือนไว้สูงมาก สอดรับกับธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า เงินฝากหยวนของครัวเรือนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2024 พบว่า เพิ่มสูงขึ้น +11.8% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันที่ผ่านมา

นายคริสโตเฟอร์ เบดดอร์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยกาเวคัล ดราโกโนมิกส์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นจีนเจนซี(Z) หันมาประหยัดเงินอย่างยกใหญ่ เนื่องจาก ของเศรษฐกิจมีความผิดปกติ และไม่ดีเหมือนเดิม จึงต้องเริ่มเก็บเงินเพื่อเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีอีกเหตุผลหนึ่งที่มองว่า วัยรุ่นชาวจีนเจนซี(Z) ที่กำลังออมเงินอย่างมากมาย อาจมาจากสาเหตุของตลาดแรงงานในประเทศจีนตกอยู่ในภาวะตึงตัวมาก นายเจีย เมียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้น คนรุ่นใหม่ชาวจีนว่างงานเป็นจำนวนมากจากผลพวงของเศรษฐกิจจีนที่ซบเซามาก ดังนั้น วัยรุ่นชาวจีนบางคนที่หันมาออมเงินมากขึ้น นั่นเป็นเพราะยังหางานทำไม่ได้ หรือมีมุมมองที่ว่าการหารายได้เพิ่มเป็นเรื่องยาก