ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี มักเป็นช่วงที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานในระดับอันตราย โดยข้อมูลจาก Air Quality Life Index (AQLI) สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับอายุขัยเฉลี่ยของประชากร พบว่า ข้อมูลของประเทศไทยมีค่า 1.78 ปี หมายความว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นได้ 1.78 ปี หากค่า PM2.5 ของไทยอยู่ในระดับมาตรฐาน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก โดย 3 อันดับแรกที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดลงมากที่สุดอยู่ที่ บังคลาเทศ อินเดีย และเนปาล 6.76, 5.26 และ 4.58 ปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าในปี 2566 คนไทยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงขึ้นมาก เช่น โรคหลอดลมอักเสบ 39.1% มะเร็งปอด 19.8% หอบหืด 19.3% หลอดเลือดสมอง 16.8% หัวใจขาดเลือด 7.0% สะท้อนปัญหาด้านสังคมและสาธารณสุขที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศที่ต้องเร่งป้องกันและแก้ไข
ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยตามธรรมชาติ ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือมนุษย ทั้งนี้ ฝุ่นละออง PM 2.5 สูงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากลักษณะสภาพภูมิอากาศตามฤดูกาลที่มีการถ่ายเทอากาศลดลงเป็นปกติ แต่ปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเผา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้อมูลจุดความร้อนโดยการวิเคราะห์ของดาวเทียมซึ่งสามารถใช้อ้างอิงปริมาณการเผา พบว่า ในปี 2566 มีจุดความร้อนรวม 168,468 จุด เพิ่มขึ้น 122,472 จุด (266%) จากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 45,996 จุด โดยหากพิจารณาพื้นที่จุดความร้อนจำแนกตามประเภทเกษตรกรรม พบว่า นาข้าว และข้าวโพดและพืชไร่หมุนเวียนมีการเผาสูงที่สุด (39% และ 24%) ตามลำดับ
ปัญหาหมอกควันพิษครั้งใหญ่ในลอนดอน สหราชอาณาจักร พ.ศ. 2495 และปัญหาหมอกควันพิษในเมืองโดโนรา เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2491 ซึ่งมีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ และหลอดเลือดสมอง ผู้เสียชีวิตรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย จนเกิดการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในที่สุด
ในปี พ.ศ. 2495 ลอนดอนประสบกับปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดจากการเผาถ่านหินเพื่อใช้เป็นพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและการให้ความร้อนในบ้านเรือนเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะเวลานั้นซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จนเกิดเป็นหมอกควันสีดำปนเหลืองที่ประกอบไปด้วยฝุ่น PM2.5 สารซัลเฟอร์ได้ออกไซด์ กรดไฮโดรคลอริก สารประกอบฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารพิษปกคลุมหนาแน่นบดบังทัศนวิสัย ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพแก่ประชาชนกว่า 1 แสนคน จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 พันคน
สหรัฐอเมริกาเคยประสบกับปัญหาหมอกควันพิษที่เมืองโดโนรา เพนซิลวาเนียในปีพ.ศ. 2491 จากกระบวนการผลิตของโรงงานสังกะสีและเหล็ก ที่มีการปล่อยสารไฮโดรเจนฟลูออไรด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่งผลให้ประชากรเมืองป่วยภายในสัปดาห์เดียวกว่า 6,000 คน และเสียชีวิตกว่า 50 คน จนได้รับการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในเหตุมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายด้านอากาศสะอาดในปี พ.ศ. 2498 (The Air Pollution Act of 1955) ซึ่งได้มีการแก้กฎหมายอีกหลายครั้ง เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการลดปริมาณมลพิษในอากาศ
ผลลัพธ์ของการออกกฎหมาย… ข้อมูลภายหลังจากกฎหมายอากาศสะอาดมีการบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรพบว่าปริมาณควันดำ(Black Smoke) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณ PM2.5 และปริมาณสารพิษจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศทั่วประเทศลดลง 50-65% ในช่วงเริ่มต้นของการออกกฎหมายอากาศสะอาด (1962-1975) นอกจากนี้ การป่วยจากปัญหามลพิษที่ลดลงจากคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นของสหรัฐอเมริกาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร และยืดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนในประเทศจ านวน 1.5-3 ปี
อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดโทษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle) แต่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความท้าทายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรในระดับบุคคล เช่น การเผาขนาดเล็กๆ หลายๆ พื้นที่ ทำให้การดำเนินการเพื่อจับกุมอาจต้องอาศัยงบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาค่า PM2.5 ของประเทศไทยยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐานจนอยู่ในระดับอันตรายในหลายพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การดูแลให้ประชาชนมีสิทธิในการได้รับอากาศสะอาด
ประเด็นอีกประเด็นที่ยังขาดการบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทำให้ยังคงมีช่องว่างของกฎหมายในการดูแลประชาชนในฝั่งของผู้ได้รับมลพิษ ให้ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศควรกำหนดแผนงานเป็นหลายระยะ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนในระยะสั้น จนไปถึงแผนระยะยาวสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไปรวมถึงการกำหนดเป้าหมายของนโยบายในระดับบุคคล และระดับอุตสาหกรรม โดยในระดับบุคคล แนวทางการแก้ไขคงต้องเน้นการปรับพฤติกรรมผ่านนโยบายสนับสนุนและกำหนดโทษ (The carrot-and-stick motivational approach) และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะจากการเผาซึ่งถูกมองว่าประหยัดต้นทุนและประหยัดเวลา แต่สร้างมลพิษ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาระดับโรงงานและอุตสาหกรรม การกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอากาศสะอาดที่ชัดเจนและครอบคลุม จะช่วยเร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 สารเคมี และมลพิษทางอากาศอื่นๆ เพื่อสร้างสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับอากาศของประชาชนที่ปราศจากฝุ่นและมลพิษ และคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด (ร่าง พ.ร.บ.ฯ) ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมาช่วยเชื่อมโยงกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นผลให้ต้องดำเนินการเพื่อจัดหาอากาศสะอาดให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งระบบการตรวจคุณภาพอากาศที่สามารถระบุพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติเพื่อใช้เครื่องมือและจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที่ เพื่อให้อากาศสะอาดให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องรับรอง และปกป้องให้ประชาชนให้ได้รับอากาศที่ปราศจากมลพิษโดยกฎหมาย