ศูนย์วิจัยกรุงศรี ในเครือธนาคารกรุงศรี เปิดเผยรายงานวิเคราะห์ ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีมือสองในประเทศไทย พบว่า ค่าเสื่อมราคาเริ่มต้นของรถยนต์อีวีในไทยนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 22.93% นั่นหมายถึง ทันทีที่รถอีวีถูกขายออกจากโชว์รูมในประเทศไทย จะทำให้ราคาขายต่อสูงสุดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 77.07% ของราคารถอีวีใหม่ป้ายแดง นอกจากนี้ มูลค่าของรถอีวีมือสองจะลดลงประมาณ -5.6% ถึง -9.4% ต่อระยะทางวิ่ง 10,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่สูงกว่าอัตราปกติของรถยนต์มือสองทั่วโลก ที่โดยเฉลี่ยลดลงประมาณ -5.2% ต่อระยะทางเดียวกัน
การประเมินการเสื่อมราคา (Price Depreciation) ของรถอีวีมือสอง โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อประเมินอัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าขายต่อ (หรือการเสื่อมราคา) ของรถอีวีมือสองในไทย ซึ่งแยกตามปัจจัยด้านคุณลักษณะของรถ ได้แก่ เลขไมล์สะสม ประเภทของรถยนต์ สัญชาติของค่ายรถยนต์ สี และปีที่ผลิต มีดังนี้
ค่าเสื่อมราคาเริ่มต้น (Initial depreciation หรือ Off-the-lot depreciation) เป็นการลดลงของมูลค่ารถอีวีทันทีหลังจากที่ถูกขายออกจากโชว์รูมหรือผู้จำหน่าย แม้ว่ารถจะยังมีเลขไมล์ต่ำหรือยังไม่ได้ใช้งานจริงก็ตาม ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนสถานะของรถจากใหม่เป็นมือสองทันที โดยค่าเสื่อมราคาเริ่มต้นของรถอีวีในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 22.93% กล่าวคือ ทันทีที่รถอีวีถูกขายออกจากโชว์รูม ราคาขายต่อสูงสุดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 77.07% ของราคารถใหม่
เลขไมล์สะสม มูลค่าขายต่อของรถอีวีมือสองจะลดลงประมาณ -5.6% ถึง -9.4% ต่อระยะทางวิ่ง 10,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่สูงกว่าอัตราปกติของรถยนต์มือสองทั่วโลก ที่โดยเฉลี่ยลดลงประมาณ -5.2% ต่อระยะทางเดียวกัน (Source: Econoautosale) เนื่องจากตลาดรถอีวีของไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงมีหลายปัจจัยที่ฉุดมูลค่าขายต่อ เช่น มาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดรถใหม่ของรถอีวีทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อรถอีวีใหม่ได้ในราคาที่ถูกลง ตลอดจนการแข่งขันพัฒนารถอีวีรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและระยะทางวิ่งที่ดีขึ้นในราคาไม่แพงเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสงครามราคาที่รุนแรงในตลาดรถใหม่ของรถอีวีในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนกดดันราคาของรถอีวีในตลาดมือสองให้ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Transport & Environment (2566) พบว่า เมื่อมูลค่าขายต่อ (Resale Value) ลดลงเหลือ 30% ของราคาตั้งต้น มูลค่าขายต่อจะเริ่มคงที่ ทำให้คาดว่า รถอีวีมือสองของไทยที่มี Resale Value ลดลงเหลือ 30% หรือระยะทางวิ่งสะสมประมาณ 150,000 กิโลเมตร จะเริ่มมีมูลค่าขายต่อคงที่ในอัตราดังกล่าว
สัญชาติของแบรนด์ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนราคาขายต่อต่อราคารถมือหนึ่ง พบว่ารถอีวีสัญชาติสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถพรีเมียม มี Resale Value สูงกว่ารถยนต์สัญชาติจีนประมาณ 17.6% และ 19.2% ตามลำดับ(สอดคล้องกับข้อมูลของ Japan Times (2566) และ Carnex Canada (2567)) กล่าวคือ หากรถยนต์รถอีวีสัญชาติจีนมีราคาขายต่อที่ 50% ของราคามือหนึ่งรถอีวีสัญชาติสหรัฐฯ และยุโรป จะมีราคาขายต่อที่ 67.6% และ 69.2% ตามลำดับ เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านชื่อเสียงของแบรนด์ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและมีการอัพเดทซอฟท์แวร์ที่ใช้ในรถยนต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพของแบตเตอรี่ ตลอดจนระยะทางวิ่งต่อรอบการอัดประจุที่ไกลกว่า
ขณะที่ รถอีวีสัญชาติอังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แม้ส่วนใหญ่เป็นรถพรีเมียมและมีราคาขายปลีกของรถใหม่ที่สูงกว่ารถอีวีสัญชาติจีน แต่มีมูลค่าขายต่อที่ลดลงในอัตราที่สูงกว่า โดยมูลค่าขายต่อของรถอีวีสัญชาติอังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะต่ำกว่ารถอีวีจีนราว -10.0% -23.6% และ -25.0% ตามลำดับ กล่าวคือ หากรถอีวีสัญชาติจีนมีราคาขายต่อที่ 50% ของราคามือหนึ่งรถอีวีสัญชาติอังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะมีราคาขายต่อที่ 40.0% 26.4% และ 25.0% ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา รถอีวีในกลุ่มดังกล่าวมีรุ่นที่นำเข้ามาขายในไทยจำกัด สะท้อนจากยอดจดทะเบียนสะสมรวมกันที่น้อยกว่า 1.5% เมื่อเทียบกับยอดจดทะเบียนรถอีวีทั้งหมด อีกทั้งระยะทางวิ่งต่อรอบการอัดประจุบางรุ่นที่สั้นกว่าแบรนด์จีน จึงทำให้มีกลุ่มตัวอย่างมือสองที่ไม่มากนัก
ด้าน Segment ของรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพรีเมียม (Sports และ Luxury Sedan) และรถตู้ มีราคาขายต่อสูงกว่ากลุ่มรถอีวีนั่ง ประมาณ 8.9% และ 18.6 % ตามลำดับ ซึ่งต่างจากภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามือสองในต่างประเทศ เนื่องจากในไทยรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นโมเดลที่นำเข้าเพื่อมาจำหน่ายในประเทศและเป็นที่นิยมในตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง (Niche market) ทำให้อุปสงค์มีมากกว่าเมื่อเทียบกับอุปทานซึ่งยังค่อนข้างจำกัด
ปัจจัยปีที่ผลิต เมื่อเวลาผ่านไป รถอีวีโมเดลเก่าจะมีมูลค่าขายต่อของลดลงเฉลี่ยปีละ -6.1% หลังจากปีที่โมเดลรุ่นนั้นๆ ออกสู่ตลาด (โดยที่ควบคุมปัจจัยอื่นๆ ให้คงที่) เช่น ในปี 2567 รถอีวีโมเดลที่ผลิตในช่วงปี 2564 จะมีราคาขายต่อลดลงเฉลี่ย –18.3% ขณะที่โมเดลที่ผลิตในปี 2565 และ 2566 จะมีราคาขายต่อลดลง -12.2% และ -6.1% จากราคามือหนึ่ง ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดคล้ายคลึงกับสินค้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะระยะทางวิ่งต่อรอบการอัดประจุที่เพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูล BEV มือสองที่ประกาศขายผ่าน One2car พบว่ารถโมเดลปี 2567 มีระยะทางวิ่งเฉลี่ย 509.0 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ มากกว่าโมเดลที่ผลิตในปี 2564, 2565 และ 2566 ที่มีระยะทางวิ่งเฉลี่ยต่อรอบการชาร์จเพียง 345.1, 386.2 และ 477.1 กิโลเมตร ตามลำดับ
ปัจจัยสุดท้าย คือ สี พบว่าไม่มีผลต่อ Resale Value ของรถอีวีมือสองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แม้รถยนต์ไฟฟ้าสีมาตรฐาน อาทิ สีขาว ดำ เทา เงิน และน้ำเงิน จะได้รับความนิยมสูงในตลาดรถยนต์ไทยก็ตาม