วิจัยกรุงศรี ชี้ ภาษีทรัมป์ทุบไทยหนัก จ่อกดจีดีพีไทยดิ่ง ส่งออกโตใกล้ 0% หลายอุตสาหกรรมกระทบ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (วิจัยกรุงศรี) เปิดเผยบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ว่า นโยบายภาษีตอบโต้ที่รุนแรงกว่าคาดของสหรัฐฯ ได้เพิ่มความเสี่ยงขาลง (Downside risk) ต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น มาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้อ่อนแอลง ซึ่งประเทศไทยนับเป็น 1 ในเกือบ 60 ประเทศที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยสินค้าของไทยจะถูกเก็บในอัตราที่ 36% สูงสุดเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน รองจากกัมพูชา (49%) ลาว (48%) เวียดนาม (46%) และเมียนมาร์ (44%) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.นี้

การถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงเกินคาดที่ 36% อาจส่งผลให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่เติบโต โดยในระยะสั้น มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างมาก และเฉลี่ยทั้งปี 2568 อาจเติบโตใกล้ 0% หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาลดภาษี

ผลกระทบสูง: อาหารทะเลแปรรูป ยางรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และถุงมือยาง เนื่องจากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำสำหรับสินค้าไทยกลุ่มนี้ และสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างมากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกและการผลิตสินค้าเหล่านี้

ผลกระทบปานกลาง: ยางพารา ข้าว รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า พลาสติก อุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ และเหล็กและเหล็กกล้า แม้สหรัฐฯ จะยังเป็นตลาดหลักของสินค้าเหล่านี้ แต่ตลาดอื่น ๆ ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ นอกจากนี้ ไทยเองก็ผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อใช้ในประเทศด้วยเช่นกัน

“อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป และยางรถยนต์ อาจส่งผลต่อเนื่องผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต ซึ่งจะกระทบไปยังการผลิตสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่งผลลบต่อการจ้างงาน รวมถึงกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ” บทวิเคราะห์ ระบุ

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางการค้าโลกทวีแรงขึ้น และยังมีความไม่แน่นอนสูง กดดันเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยสูงเกินคาดที่ 36% ขณะที่ทางการไทยเคยประเมินไว้ว่าอาจถูกเก็บภาษีที่ 11% (ช่วง 10-15%) โดยก่อนหน้านี้ ส่วนต่างภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของไทยกับสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 6% หากบวกกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อัตราภาษีนำเข้าที่เคยคาดการณ์จะอยู่ที่ราว 13%

สำหรับผลกระทบในระยะปานกลาง-ระยะยาว อาจจะรุนแรงน้อยกว่าในระยะสั้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดกับไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ จีน (54% คำนวณจากอัตราภาษีตอบโต้ 34% บวกกับอัตราภาษีที่สหรัฐฯจัดเก็บ 20% เมื่อต้นปี) และเวียดนาม (46%) ส่งผลให้การย้ายฐานการลงทุน และผลของการทดแทนการส่งออกสินค้า อาจส่งผลบวกในเชิงเปรียบเทียบต่อการส่งออก และการผลิตบางรายการของไทย

จากการประเมินผลกระทบโดยอาศัยแบบจำลอง Global Trade Analysis Project (GTAP) พบว่า การขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ นี้ จะทำให้การส่งออก และ GDP ของไทยในระยะกลางถึงยาวลดลง -2.6% และ -0.11% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนพบว่า GDP ของเวียดนาม และกัมพูชา จะลดลงมากกว่าไทย เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่า และมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมากกว่า ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าไทย

ในระยะข้างหน้า ความตึงเครียดทางการค้าโลก อาจมีพัฒนาการในหลายทิศทาง ได้แก่
1.การเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ
2. มาตรการตอบโต้ที่ลุกลาม กลายเป็นความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ
3. ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกดดันภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตของหลายประเทศลดลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวแบบรูปตัว K (โดยภาคการผลิตหลายสาขายังคงฟื้นตัวได้ช้า หรือการเติบโตที่อ่อนแอกว่าภาคบริการอยู่มาก) ผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตสำคัญของไทย และกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลางให้ยิ่งอ่อนแอลง

สงครามการค้าที่ถูกยกระดับความรุนแรงขึ้น จากนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งตอกย้ำภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรี พบว่าหากสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีนำเข้าตามที่ประกาศไว้ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งออกของสหรัฐฯ ในระยะกลาง-ยาว อาจลดลง -0.66% และ -30.3% ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าผลต่อ GDP และการส่งออกโลกที่คาดว่าจะลดลง -0.16% และ -4.5% ตามลำดับ

ขณะที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง และกระทบกับกำลังซื้อภายในประเทศ ด้านภาคการผลิตและส่งออกมีแนวโน้มซบเซา ภายใต้ความเสี่ยงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯประกาศขึ้นอัตราภาษีตอบโต้ต่อคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นที่ถูกเรียกเก็บสูงถึง 24% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 9 เมษายน ซึ่งจากผลการศึกษาของเรา พบว่าหากสหรัฐฯ จัดเก็บนำเข้าในอัตราดังกล่าว การส่งออกของญี่ปุ่นอาจลดลง -3.7% ในระยะกลาง-ยาว

ด้านจีน การขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ กับหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงจีน จะทำให้ GDP และการส่งออกของจีนในระยะกลางถึงยาวลดลง -0.04% และ -2.7% ตามลำดับ โดยจีนจะเผชิญกับผลกระทบ ทั้งทางตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และทางอ้อม ผ่านประเทศที่เป็นฐานการผลิตให้กับจีน โดยเฉพาะอาเซียนซึ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตราตั้งแต่ 10-49% ขณะเดียวกันสงครามการค้า อาจยิ่งไปซ้ำเติมภาวะอุปทานส่วนเกินของจีน รวมถึงลดทอนประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นการบริโภค ที่จีนประกาศกรอบในภาพใหญ่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในระยะอันใกล้ คาดว่า จีนจะเร่งประกาศรายละเอียดมาตรการผ่อนคลายทางการคลังและการเงินเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles