วิจัยกรุงศรี เล็งหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงจาก 2.9% โตไม่ตามเป้าเดิม จากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ กังวลภาษีนำเข้าสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกรุงศรี เตรียมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทาง เศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2568 ลงจาก 2.9% เนื่องจาก 1. อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลบวกค่อนข้างจำกัด (เฟส 2 วงเงินเพียง 30,000 ล้านบาท และเหลือวงเงินอีก 1.57 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในปีนี้) 3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจไม่เป็นไปตามที่เคยคาดไว้ที่ 40 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า และ 4. หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้า อาจกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย พร้อมมองว่า ปัจจัยบั่นทอนและความเสี่ยงดังกล่าว เปิดทางให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้ และหากไม่มีการปรับดอกเบี้ยในเดือนนี้ ยังมีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดในเดือนเม.ย.68 หลังมีความชัดเจนเรื่องภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

สำหรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. 68 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 59.0 จาก 57.9 ในเดือนธันวาคม ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวในประเทศที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวก้บโอกาสในการหางาน รายได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

ทั้งนี้ แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่นับว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด (ปี 62 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) ขณะที่แรงหนุนหลักจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น อาทิ การแจกเงินสด 10,000 บาท เฟส 1 กับกลุ่มเปราะบาง (ราว 14 ล้านคน) และเฟส 2 แก่กลุ่มผู้สูงอายุ (กว่า 3 ล้านคน)

ส่วนแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ วิจัยกรุงศรี คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากปีก่อน ๆ ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากค่าจ้างที่แท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2562 (ก่อนโควิด) เพียง 3.2% ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่าย

โดยยังต้องติดตามผลจากมาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้รายย่อย ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งล่าสุด มีการขยายไปยังกลุ่มลูกค้านอนแบงก์ และขยายเวลาลงทะเบียน เพื่อเข้าร่วมโครงการออกไปเป็นสิ้นเดือนเม.ย. 68

ล่าสุดวานนี้ (17 ก.พ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4/2567 ขยายตัวที่ 3.2% น้อยกว่าที่คาด โดยเป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากมากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ จากผลของการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม จึงส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2567 โตต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 67 เติบโตที่ 2.5% ส่วนปี 68 สภาพัฒน์ คาดโตได้ 2.8% (กรอบ 2.3-3.3%)

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles