Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของปี 2568 จะอยู่ที่ 0.7% จากผลของฐานราคาพลังงานเป็นสำคัญ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่แผ่ว และผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/68) มีแนวโน้มอ่อนแอลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่อาจปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดทอนเงินเฟ้อ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารสด ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย ทั้งเวียดนาม, อินโดนิเซีย, ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ สะท้อนว่าเงินเฟ้อไทยขาดแรงส่งด้านกำลังซื้อในการขับเคลื่อนราคาสินค้า ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มประเทศดังกล่าว ที่ยังมีแรงส่งจากกำลังซื้อภายในประเทศ
นอกจากนี้ เงินเฟ้อไทยถูกกดดันจากด้านอุปทาน ที่ราคาพลังงานต่ำกว่าปีก่อน และราคาพลังงานอาจมีแนวโน้มต่ำลงได้อีก จากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศหลักที่ไม่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงอีก กดดันอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% เป็นผลจากหมวดพลังงานเป็นหลัก
Krungthai COMPASS มองว่า การติดลบของอัตราเงินเฟ้อครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ยังไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากระดับราคาสินค้าและบริการยังปรับลดลงไม่กระจายวงกว้าง (Broad-based) และปัจจัยของการปรับลดลง มาจากฝั่งราคาพลังงานซึ่งต่ำกว่าปีก่อน โดยเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามผลจากการทะลักของสินค้าจีน ที่เข้ามารุกตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ 0.7% จากผลของฐานราคาพลังงานเป็นสำคัญ รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลง และผลของสงครามการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง