ศูนย์วิจัยกรุงไทย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกเดือน พ.ย. อยู่ที่ 25,608.2 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 8.2%YoY โตต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 14.6%YoY ทั้งนี้การส่งออกสินค้าทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ต่างอยู่ในทิศทางเติบโต สำหรับการส่งออกทองคำในเดือนนี้เร่งตัวถึง 174.7%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะอยู่ที่ 6.4%YoY สำหรับการส่งออก 11 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 5.1%YoY
ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.5%YoY เติบโตต่อเนื่องจาก 18.7%YoY ในเดือนก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+40.8%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+35.8%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+24.8%) อัญมณีและเครื่องประดับ (+24.3%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+16.7%) และหม้อแปลงไฟฟ้า (+13.8%) เป็นต้น นอกจากนี้ รถยนต์ (+3.9%) กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-71.5%) และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (-34.3%) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 5.7%YoY โตต่อเนื่องจาก 7.2%YoY เมื่อเดือนก่อน โดยสินค้าเกษตรขยายตัว 4.1%YoY จากเดือนที่ผ่านมาซึ่งเติบโต 6.8%YoY ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.7%YoY ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 7.6%YoY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (+44.8%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+24.6%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+18.1%) ยางพารา (+14.1%) และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป (+12.0%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย (-23.3%) ข้าว (-20.6%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-8.3%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-6.3%) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 9.5%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกขยายตัว 13.3%) ,จีน ขยายตัว 16.9%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกขยายตัว 2.2%) , ญี่ปุ่น หดตัว 3.7%YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 2 เดือน ทั้งนี้สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกหดตัว 5.8%)
EU27 ขยายตัว 11.2%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกขยายตัว 9.5%) ,ASEAN-5 หดตัว 1.5%YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 2 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกหดตัว 0.8%)
มูลค่าการนำเข้าเดือน พ.ย. อยู่ที่ 25,608.5 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 0.9%YoY ชะลอตัวจาก 15.9%YoY เมื่อ เดือนก่อน โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+14.0%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+16.2%YoY) ขยายตัว ส่วนสินค้าเชื้อเพลิง (-21.1%YoY) และสินค้าทุน (-1.5%YoY) กลับมาติดลบ ขณะที่การนำเข้าสินค้ายานพาหนะฯ (-25.3%YoY) หดตัวต่อเนื่อง ส่วนดุลการค้าเดือน พ.ย. ขาดดุล 224.4 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปีขาดดุล 6,269.8 ล้านดอลลาร์ฯ
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกเดือน พ.ย. ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่อาจเติบโตจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อไว้ก่อนการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯระลอกใหม่ ขณะที่ภาวะการค้าระหว่างประเทศระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังเติบโตดีสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น เป็นผลจากแรงหนุนของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และปัจจัยชั่วคราวตามการคำสั่งซื้อที่เพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงผลด้านราคาซึ่งจะขยับสูงหลังการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯช่วงปีหน้า ทั้งนี้ หน่วยงานระดับโลกต่างประเมินว่า บรรดาประเทศที่ต้องพี่งพารายได้จากภาคการค้าต่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากกระแสแยกขั้วที่รุนแรงขึ้น โดย IMF ประเมินว่า ปริมาณการส่งออกของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา (EMDE) ปี 2568 จะทรงตัว โดยเติบโตที่ 4.6% เท่ากับปี 2567 ด้าน UNCTAD และ WTO เตือนว่า ทิศทางการค้าโลกปี 2568 มีความไม่แน่นอนสูง สาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าระลอกใหม่ของสหรัฐฯ รวมทั้งการตอบโต้จากจีนและประเทศคู่ค้าอื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นวงกว้างและเป็นปัจจัยลบต่อการค้า ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสำคัญและหลายประเทศมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อาจเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้า โดย WTO คาดว่า ปริมาณการส่งออกของกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงจาก 7.4% ในปี 2567 สู่ 4.7% ในปี 2568
มองต่อไปในช่วงปี 2568 การค้าโลกและการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าถูกกดดันจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลงช้ากว่าคาด ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และอาจกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า