วิจัยกรุงไทย ประเมินแหล่งเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น หรือสไตล์ Man-made Destination มาแรง ขยายฐานนักเดินทาง หนุนภาคท่องเที่ยว จ้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมิน แหล่งเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น หรือ Man-made Destination กำลังมาแรง จากนักเดินทางทั่วโลกที่ต้องการค้นหาประสบการณ์ที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม ชี้เป็นโอกาสในการลงทุนพัฒนาการ ท่องเที่ยว เชิง Man-made ของไทย เพื่อเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในผลักดันภาคท่องเที่ยว ทั้งการขยายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างรายได้เพิ่มเติมเข้าประเทศ ช่วยกระตุ้นการจ้างงานในภาคท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

ดร. สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 199.5 ล้านคน คิดเป็น 121% ของระดับเดิมในช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 26.1 ล้านคน คิดเป็นราว 88% ของตัวเลขช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งถือว่ายังฟื้นตัวช้ากว่าหลายภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เติบโตก้าวกระโดด จากปรากฏการณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศกาตาร์ที่เติบโตสูง ส่วนหนึ่งจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศของกาตาร์ขยายตัวกว่า 3 เท่าเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 สะท้อนความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ Man-made Destination หรือแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น

สำหรับประเทศไทย นักเดินทางที่สนใจท่องเที่ยวในรูปแบบ Man-made มีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศเมื่อปี 2565 โดยในปี 2567 คาดว่านักท่องเที่ยว Man-made ชาวไทยจะอยู่ที่ 35.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17.9% ของนักท่องเที่ยวไทยทั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มการประชุมและนิทรรศการราว 22.2 ล้านคน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงเทศกาลและผู้เยี่ยมเยือนสวนสนุกราว 4.3 และ 9.2 ล้านคน ตามลำดับ ขณะที่นักท่องเที่ยว Man-made ชาวต่างชาติ มีประมาณ 2.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด นำโดยกลุ่มการประชุมและนิทรรศการ 1 ล้านคน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงเทศกาลและผู้เยี่ยมเยือนสวนสนุกอยู่ที่ 4.6 แสนคนและ 1.0 ล้านคน โดยจำนวนนักท่องเที่ยว Man-made ชาวต่างชาติแบบ ที่ยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวไทย สะท้อนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Man-made ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

ดร. ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบ Man-made เป็นรูปแบบการเดินทางที่มาแรง และสอดรับกับเทรนด์ความต้องการแสวงหาประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กิจกรรมประเพณี การท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิง ตลอดจนการประชุมและนิทรรศการระดับโลก (MICE) ดังนั้น การนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมแก่นักเดินทางชาวต่างชาติจะช่วยขยายฐานนักท่องเที่ยวได้ โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า การผลักดันตลาดการท่องเที่ยวแบบ Man-made จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ 3.1 ล้านคนในปี 2568 เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่าจากปี 2565 แยกเป็นกลุ่ม MICE 1.4 ล้านคน กลุ่มผู้เยี่ยมเยือนสวนสนุก 1.2 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมและเทศกาล 4.8 แสนคน ประเมินว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวแบบ Man-made ปี 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 58,300 บาทต่อคนต่อทริป สูงกว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนวันพักนานและมีรายจ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ โดยคาดว่าสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.9% ของจีดีพี

นายกฤตตฤณ เหล่าฤทธิ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การลงทุนเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว Man-made Destination สามารถสร้างรายได้ในอนาคตที่คุ้มค่า เช่น โครงการพัฒนาเซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์ ลงทุนประมาณ 2.1 แสนล้านบาท สามารถสร้างรายได้สูงถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือใช้เวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ขณะที่การจัดแข่งขันฟุตบอลโลก Qatar FIFA World Cup 2022 มีรายจ่ายลงทุน 4.9 แสนบาท แต่สามารถสร้างรายได้ราว 6.8 หมื่นล้านบาทในช่วงจัดงานแข่งขัน (เช่น ค่าถ่ายทอดสด) และ 5.1 หมื่นล้านบาทในปีหลังจัดงาน ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามายังกาตาร์เพิ่มขึ้น ประเมินว่าจะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 10 ปี นอกจากประโยชน์ด้านรายได้แล้ว การลงทุน Man-made Destination ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนกระตุ้นการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ มองว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Man-made ของไทย มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ประเทศได้อีกมาก โดยเฉพาะการบุกเบิกสถานที่ท่องเที่ยวแบบครบวงจรในลักษณะ Entertainment complex หรือการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวไปสู่ศูนย์รวมความบันเทิงสำหรับครอบครัว ตลอดจนการจัดงานเมกะอีเวนท์ระดับโลก ดังนั้น การทำความเข้าใจนักท่องเที่ยว Man-made แต่ละประเภทจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ซึ่งมีความกระหายใคร่รู้ต่อแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่หรืองานเทศกาลในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles