ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยจังหวัดเมืองรองในประเทศไทย ที่รายได้โต และความหนาแน่นร้านค้าน้อย จึงเป็นพื้นที่ศักยภาพธุรกิจค้าปลีก นอกเหนือไปจากจังหวัดหัวเมืองหลัก ที่ผู้ประกอบการมีแผนขยายสาขาในบาง Segment เช่น ร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ยังมีหลายจังหวัดหัวเมืองรองเป็นพื้นที่ศักยภาพในการขยายการลงทุนของธุรกิจค้าปลีก โดยมีปัจจัยสำคัญที่นำมาพิจารณา ดังนี้
1) จังหวัดที่มีความหนาแน่นของร้านค้าปลีกต่อประชากรที่ยังน้อย โดยยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 7 ร้านต่อประชากร 1 พันคน สะท้อนถึงการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง และเป็นโอกาสในการขยายสาขาเพิ่ม 2) จังหวัดที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูง และสัดส่วนการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกขยายตัวดี โดยรายได้ประชากรต่อหัวมากกว่า 120,000 บาทต่อปี รวมถึงสัดส่วนการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 4% (CAGR ปี 2555-2565) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนกำลังซื้อของธุรกิจ
3) จังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่อปีสูง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ 4) จังหวัดที่มีประชากรวัยแรงงานในพื้นที่สูง หรือมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 64% สะท้อนถึงกลุ่มคนที่มีรายได้เพื่อใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และ 5) จังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ เช่น โครงการ Motorways โครงการรถไฟทางคู่ และการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในจังหวัด
เมื่อพิจารณาทั้ง 5 ปัจจัยสนับสนุนข้างต้น พบว่า นอกจากจังหวัดเมืองหลัก เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนแล้ว ยังมีหลายจังหวัดเมืองรองเป็นพื้นที่ศักยภาพของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีปัจจัยหนุนแตกต่างกันไป ได้แก่ จังหวัดที่มี 5 ปัจจัย จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี และชุมพร จังหวัดที่มี 4 ปัจจัย จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และนครศรีธรรมราช จังหวัดที่มี 3 ปัจจัย จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เลย นครพนม อุบลราชธานี นครนายก จันทบุรี ตราด สุพรรณบุรี ราชบุรี และสตูล
ภาพดังกล่าวสอดคล้องไปกับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายที่มีแผนขยายสาขาไปสู่จังหวัดเมืองหลักและจังหวัดเมืองรองบ้างแล้ว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ และนครสวรรค์ รวมถึงมีการปรับปรุงสาขา (Renovate) เช่น การปรับโฉมพื้นที่โซนต่างๆ และการเลือกร้านค้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าหลากหลายเจเนอเรชั่น
อย่างไรก็ดีการพิจารณาพื้นที่ศักยภาพในการเปิดสาขาธุรกิจค้าปลีกดังกล่าว อาจเป็นเพียงการชี้ให้เห็นโอกาส แต่ยังไม่สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ เนื่องจากต้องดูปัจจัยเฉพาะตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ต้นทุนการทำธุรกิจในทำเลต่างๆ (ค่าขนส่ง ความพร้อมของสาธารณูปโภค ฯลฯ) รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่