วิจัยกสิกรไทยชี้ เอสเอ็มอีผลิตสินค้าเจอสงครามภาษีสหรัฐ เจอรายใหญ่ยันของถูกจากนอก ขาดทุนเพิ่ม-ปิดการการเพิ่ม เปิด 5 ธุรกิจเอสเอ็มอีเจอเต็มๆ

วิจัยกสิกรไทยชี้ เอสเอ็มอี ผลิตสินค้าเจอสงคราม ภาษี สหรัฐ เจอรายใหญ่ยันของถูกจากนอก ขาดทุนเพิ่ม-ปิดการการเพิ่ม เปิด 5 ธุรกิจเอสเอ็มอีเจอเต็มๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจ SMEs ในไทยเสี่ยงขาดทุน และปิดกิจการต่อในแทบทุกอุตสาหกรรม แต่คาดว่าเป็นทิศที่ชะลอลง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการปิดไปพอสมควรแล้ว เอสเอ็มอีในภาคการผลิตสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก ผลจากสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดส่งออก ทั้งนี้ ปัจจุบัน SMEs ในภาคการผลิตของไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของมูลค่าส่งออกในภาคการผลิตทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ มีความเสี่ยงส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง จากทั้งอัตราภาษีตอบโต้ และสินค้าเฉพาะภายใต้มาตรา 232 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของ Global supply chain สะท้อนจากธุรกิจเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และมีสัดส่วนพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ของธุรกิจ SMEs ไปยังโลก

ขณะเดียวกัน ตลาดในประเทศยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นกับสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาทิ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอ รวมถึงธุรกิจการเกษตร หากไทยต้องเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น สวนทางกับดัชนีภาคการผลิตที่ยังมีแนวโน้มหดตัว โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่ผลจากสงครามการค้ารอบใหม่มีความชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ SMEs อีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจส่งออกรายใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงจากผลของสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง สภาวะการณ์ดังกล่าวจึงอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังยอดคำสั่งซื้อของ SMEs ภายในห่วงโซ่การผลิตให้ลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้ประกอบการใหญ่ระมัดระวังการลงทุน

ภาคการค้าและบริการ ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 80% อีกทั้งพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ยังถูกกดดันจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแรงงานเสี่ยงถูกกระทบการปิดตัวของโรงงานหรือกิจการ ทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย อีกทั้งยังมีประเด็นการเมือง ตลอดจน SMEs ต้องแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในการบริหารจัดการต้นทุนที่ผันผวน

แม้การจ้างงานสุทธิของธุรกิจ SMEs ยังเป็นบวก จากจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่ยังมากกว่าธุรกิจที่ปิดกิจการ แต่ตัวเลขอัตราการเติบโตกลับลดลงในช่วงปี 2565-2567 สะท้อนว่าไปข้างหน้าจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่อาจสามารถดูดซับแรงงานในตลาดได้น้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคการค้าและการผลิตที่มีอัตราการเติบโตของการจ้างงานเฉลี่ยต่อปีเพียง 2.1% และ 0.7% ชะลอลงจากในช่วงปี 2562-2564 ที่เคยโต 3.4% และ 2.0% สอดคล้องไปกับการจ้างงานในภาพรวม ณ ไตรมาสแรกปี 2568 ของภาคการค้าและการผลิตที่หดตัว -3.1% และ -0.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สิ่งที่ SMEs ต้องทำคือ การปรับตัว และการพึ่งพาตนเองให้ได้ในทุกสถานการณ์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles