ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย (รวมเงินบาท) ได้รับแรงหนุนจากการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นกล่าวย้ำถึงความกังวลของญี่ปุ่นเกี่ยวกับแรงขายเงินเยนที่มากเกินไปในระยะนี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน พ.ย. ที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย (การส่งออก +8.2% YoY ตลาดคาดที่ +9.0%)
โดยเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ตามอานิสงส์ของการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และการขยับแข็งค่าขึ้นของเงินเยนรับสัญญาณในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินจากบันทึกการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค. ที่ผ่านมา
เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ธ.ค. 2567) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,468 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,209 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 1,208.4 ล้านบาท หักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 0.7 ล้านบาท)
สำหรับสัปดาห์นี้ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2567-3 ม.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.90-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน พ.ย. ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือน ธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ธ.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
ส่วนภาพรวมระหว่างวันที่ 2 ม.ค.-27 ธ.ค. 2567 นั้น เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ 27 ธ.ค. 2567) แข็งค่าขึ้น 0.1% จากระดับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2566 โดยที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยมีปัจจัยกดดันในช่วงต้นปีจากความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการอ่อนค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยนและเงินหยวน สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นหลังสัญญาณกังวลเงินเฟ้อจากเฟดทำให้ตลาดประเมินว่า จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 37.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือน เม.ย. 2567 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามการปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ แรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ น่าจะแตะจุดสูงสุดไปแล้ว
เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/2567 โดยมีปัจจัยหนุนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทยที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยน หลัง BOJ เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงเทขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 50 basis points ในการประชุม FOMC เดือน ก.ย. 2567 โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2567 อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 สอดคล้องกับสัญญาณฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทยและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ในเดือน ต.ค. 2567 ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจุดชนวนความกังวลต่อประเด็นความขัดแย้งของนโยบายการค้า (ซึ่งทำให้เงินหยวน สกุลเงินเอเชีย และเงินบาท อ่อนค่าลง) ประกอบกับเฟดมีการปรับมุมมองที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปี 2568 ซึ่งสะท้อนว่า แม้เฟดอาจจะยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่จังหวะและจำนวนรอบของการปรับลดดอกเบี้ยอาจชะลอลงและมีความไม่แน่นอนมากขึ้น