นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลบริษัท วิทยุการบิน แห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวว่า นโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบินในปี 2581 ซึ่ง บวท.ได้มีการดำเนินแผนงานปรับปรุงเส้นทางบินสำหรับทุกทิศทางการบินเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยเส้นทางบินที่จัดทำใหม่เป็นเส้นทางบินคู่ขนาน ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจราจรทางอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน ช่วยลดระยะทางการบิน ซึ่งจะเป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
โดยคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-ก.ย. 67) รวมประมาณ 860,470 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 436,237 เที่ยวบิน ภายในประเทศ 333,185 เที่ยวบิน และบินผ่านน่านฟ้า 91,048 เที่ยวบิน ซึ่งในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66- พ.ค. 67) ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณเที่ยวบินรวม 556,864 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 280,720 เที่ยวบิน ภายในประเทศ 216,537 เที่ยวบิน และบินผ่านน่านฟ้า 59,607 เที่ยวบิน ซึ่งสัดส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ 5 อันดับสูงสุดจากปริมาณเที่ยวบินทั้งหมด ได้แก่ 1. จีน มีสัดส่วน 20% เพิ่มขึ้นถึง 126% อันดับ 2 คือ สิงคโปร์ สัดส่วน 8% เพิ่มขึ้นจากเดิม 15% 3. มาเลเซีย สัดส่วน 7% เพิ่มขึ้น 16% 4. อินเดีย สัดส่วน 6.6 % เพิ่มขึ้น 18% และ 5. เวียดนาม สัดส่วน 6.2% ลดลง 8%
จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมีการเติบโตมากขึ้น และภายหลังที่รัฐบาลไทยและจีนได้เห็นชอบข้อตกลงทวิภาคีในการยกเลิกข้อกำหนดด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินไทย–จีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566-พ.ค. 2567 (รวม 8 เดือน) มีปริมาณเที่ยวบินไทย–จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 213% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย–จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นทั้งปี 126%
โดยปัจจุบันสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินเข้าจากจีน ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และกระบี่ โดยมีทั้งเที่ยวบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินรับ–ส่งผู้โดยสาร ยกเว้นที่ดอนเมือง และสมุย มีตารางการบินล่วงหน้าสำหรับเที่ยวบินรับ–ส่งผู้โดยสารเท่านั้น ซึ่งขณะนี้หลายสายการบินได้กลับมาให้บริการในเส้นทางบินไทย–จีน อีกทั้งมีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เฉิงตู มีเที่ยวบินไป–กลับ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีเที่ยวบินไป–กลับเฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 437% และคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2567 จะมีเที่ยวบินไป–กลับ เฉิงตูรวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265% (ปี 2566 มีปริมาณเที่ยวบิน 2,426 เที่ยวบิน)
และเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว บวท.จึงจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการจราจรทางอากาศ อีกทั้งปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ และแนวทางบริหารจัดการ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ที่ผ่านมา บวท.ได้หารือกับทางจีนและลาว เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ที่จะไปยังสนามบินหลัก คือ เชียงใหม่ และเชียงราย รวมทั้งเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เฉิงตู เทียนฟู คุนหมิง กุ้ยหยาง ฉงชิ่ง ซีอาน
ในการสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด เส้นทางการบินเข้า–ออกระหว่างประเทศไทยกับจีนที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศลาวที่จะเข้ามายังประเทศไทย ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ และเพิ่มศักยภาพการให้บริการการเดินอากาศให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริหารห้วงอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ