น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 68 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% ชะลอตัวลงจากปี 67 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 2.6% เนื่องจากสงครามการค้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก จากความไม่แน่นอนจากนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทย ที่มีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ประเมินว่าแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ลดลง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่าจะโตช้าลง จากผลกระทบสงครามการค้า ทั้งทางตรงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้า และทางอ้อมผ่านตลาดอื่น ๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา จากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมมองว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทย ที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีน ท่ามกลางขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ในปี 2568 สถานการณ์อุตสาหกรรมไทย คงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน ทั้งสงครามการค้าภายใต้นโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกและการผลิต มาตรการภาครัฐบางเรื่องที่อาจกระทบต้นทุน และประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่ยังทำให้การใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง
ส่วนกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้า จะเป็นธุรกิจขนาดกลางถึงล่าง โดยมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตในธุรกิจรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น อาจลดลงอีก ส่วนในภาคการค้าและบริการ แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่ม แต่การยืนระยะทางธุรกิจก็คงไม่ง่ายเช่นกัน