ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือ SCB เปิดเผยรายงานสุขภาพตลาดแรงงานไทยปี 2024 พบว่า โครงสร้างการจ้างงาน คุณภาพแรงงาน และค่าจ้างแรงงานไทยไม่ค่อยดีนักในอย่างน้อย 3 มิติ ดังนี้
1) โครงสร้างการจ้างแรงงานไทยมีสัดส่วนใหญ่ขึ้นในสาขาการผลิตที่มูลค่าเพิ่มไม่สูง แรงงานไทยอยู่นอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งและมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในช่วงโควิดแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบต้องออกจากงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรม โรงแรมและร้านอาหาร ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานภาคเกษตร (สัดส่วนเพิ่มจาก 31.4% ของผู้มีงานทำในปี 2019 เป็น 31.9% ในปี 2021 และลดเหลือ 30% ในปี 2023 ตามเทรนด์ปกติที่สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรจะทยอยลดลง) น่าสังเกตว่าแม้โควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่สัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังลดลงต่อ (ลดจาก 16.3% ของผู้มีงานทำในปี 2019 เหลือไม่ถึง 16% ในปี 2023) แรงงานไทยหันไปทำงานในธุรกิจบริการอื่น ๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น ร้านอาหาร บริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ ขายส่งขายปลีก ขนส่ง ส่วนหนึ่งเป็นการทำงานนอกระบบไม่มีกลไกระบบประกันสังคมคุ้มครอง
2) ผลิตภาพแรงงานไทยฟื้นตัวช้า เมื่อวัดจากมูลค่าผลผลิตต่อหน่วยแรงงาน และยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง -4.8% โดยเฉพาะแรงงานนอกภาคเกษตร สะท้อนว่าคุณภาพแรงงานไทยยังไม่กลับไปเช่นเดิมและต้องใช้เวลา เพราะผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตแค่ราว 1% ในปี 2023 เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่โตเฉลี่ยปีละ 4% สาเหตุหลักเพราะแรงงานไทยในภาพรวมยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้มากเช่นเดิม วิกฤตโควิดได้สร้างแผลเป็นต่อค่าจ้างและผลิตภาพแรงงานที่ส่งผลระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานที่ย้ายสาขาการผลิตไม่สามารถปรับทักษะใหม่ให้กลับไปทำงานเดิมได้ หรือแรงงานบางส่วนได้งานใหม่แต่กลับใช้ทักษะต่ำลง
3) ค่าจ้างแรงงานไทยแย่ลง แม้คนไทยเรียนสูงขึ้น ดัชนีค่าจ้างแรงงานไทยมีทิศทางลดลงเฉลี่ย -1% ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนโควิด แล้วยิ่งลดลงแรงขึ้นเป็นเฉลี่ย -2.5% ต่อปีตั้งแต่เกิดโควิด สะท้อนว่าแรงงานไทยโดยรวมเรียนสูงขึ้นแต่ได้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อคนต่ำลง โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานในภาคบริการที่มีมูลค่าผลผลิตต่อคนไม่สูงนัก ขณะที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นในกลุ่มธุรกิจบริการที่มูลค่าผลผลิตต่อคนสูง เช่น การเงินและประกัน สาธารณูปโภค ศิลปะบันเทิงและนันทนาการ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานไม่มาก และเน้นทำงานกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์