นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.2568 อยู่ที่ระดับ 46.7 ปรับลดลงจากระดับ 48.9 ในเดือนพ.ค.2568 โดยมีปัจจัยจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมทั้งสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับลดลง ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร และระดับหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง
โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.35 รองลงมา คือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.68 การเมือง คิดเป็นร้อยละ 8.79 เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 8.35 สังคม ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 7.87 ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 6.23 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 2.43 ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 1.47 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.83 ตามลำดับ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า มีเพียง 1 กลุ่มอาชีพ ที่ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น คือ พนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 50.2 ส่วนอีก 6 กลุ่มอาชีพ ดัชนีอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยนักศึกษา อยู่ที่ระดับ 48.6 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 47.6 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 46.7 พนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 45.9 ไม่ได้ทำงาน บำนาญ อยู่ที่ระดับ 44.9 อาชีพรับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 44.4 และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ อยู่ที่ระดับ 31.6
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจ อาทิ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและหนี้สินของภาคธุรกิจ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการลดผลกระทบภาคการส่งออก รวมทั้งด้านเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวดีขึ้น