สภาผู้ส่งออก บอกส่งออกไทย 9 เดือนสอบผ่าน มั่นใจทั้งปี 67 โตทะลุ 2% เกินเป้าหมาย 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกเติบโต 3.9% ถือว่าสอบผ่าน หากช่วงไตรมาสสุดท้ายเติบโตเท่ากับปีก่อน มั่นใจยอดส่งออกปีนี้น่าจะโตเกิน 2% อย่างแน่นอน ส่วนปีหน้ามีความท้าทายสูง

โดยสรท.ประเมินว่า ยอดส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้เกิน 2% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 1-2% โดยมีมูลค่าราว 290,084 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินบาทแตะ 10 ล้านล้านบาท หลังยอดส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.67) ขยายตัว 3.9% จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการผลักดันส่งออก และได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ถึงแม้ยอดส่งออกในเดือน ก.ย.67 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อยแค่ 1.1% เนื่องจากปีที่แล้วมีฐานสูง และตลาดส่งออกในหลายประเทศยังเติบโตได้ดี

โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า มาตรการกำแพง และของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้า  สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ,ดัชนีภาคการผลิต Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ ยกเว้นอันเดีย ,ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิต ทั้งค่าเงินบาทยังมีความผันผวน จากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายกนง. ตลอดจนสถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลเริ่มผ่อนคลายและปรับลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้า ตลอดจนปัจจัยด้านราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง

ส่วน มาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่การยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย ,คณะกรรมาธิการส่งเสริมการสนับสนุนดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยการไม่ตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาและการส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญได้แก่ ต้องเฝ้าระวังค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากปัจจัยหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางและความไม่แน่นอนของการเจรจาค่าแรงในท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกายังคงมีอิทธิพลต่อตลาดการขนส่งทางทะเล และความพยายามของสายเรือที่จะปรับเพิ่มขึ้นค่าระวางในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งต้องเฝ้าระวังความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน และเตรียมความพร้อมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน รวมถึงต้องรักษาเสถียรภาพการเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป และเร่งรัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศศักยภาพ รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี และการทำข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางการค้า

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles