สภาพัฒน์คาดถ้ารัฐบาลใหม่ทิ้ง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ทำต่อ ต้องมีมาตรการพยุงเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์คาดถ้ารัฐบาลใหม่ทิ้ง ”ดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่ทำต่อ ต้องมีมาตรการพยุงเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า จากการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนที่จะมีความชัดเจนเรื่องการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ ซึ่งการลงทุนของภาครัฐในช่วงถัดจากนี้ไป จะถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้ ดังนั้นคงต้องมาพิจารณาอีกที ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจควรต้องดำเนินการในลักษณะใด

ขณะที่การรับฟังความคิดเห็น เชื่อว่าทั้งรัฐบาลที่ผ่านมา และรัฐบาลนี้จะได้ทำอย่างรอบด้าน ต้องดูว่า สุดท้ายแล้ว จะมีมาตรการอะไรออกมา ตอนนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ก็ยังไม่ได้แถลงนโยบาย ส่วนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะทำ หรือไม่ทำ แต่งบประมาณก็มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า ดังนั้น ก็ต้องมาดูว่ารัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร จะมีนโยบายอย่างไร คงต้องพูดคุยกันในรายละเอียด

ทั้งนี้หากรัฐบาลชุดใหม่จะไม่ดำเนินการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อ ก็อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาทดแทน เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคงต้องมาหารือร่วมกันก่อนว่านายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ต้องหารือกันในระดับนโยบายก่อน รวมทั้งฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ด้วย ส่วนจะเป็นมาตรการอย่างไรนั้น คงต้องดูจากทรัพยากรที่มี ดูเครื่องมือที่มี และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ว่าจะใช้มาตรการไหนให้เกิดการทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องพิจารณาช่วงเวลา และปริมาณที่เหมาะสม ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งเชื่อว่าทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องมาหารือร่วมกัน ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 68 ควรต้องมีงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นด้วย

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้น ธปท. กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ได้มีการหารือกันมาระดับหนึ่งแล้ว และเห็นว่ามาตรการที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ ควรเป็นมาตรการที่พุ่งเป้ามากขึ้น เช่น แก้ปัญหาหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งต้องดูทรัพยากรที่จะนำมาใช้ด้วย โดยเชื่อว่าอีกไม่นาน น่าจะได้เห็นมาตรการออกมา

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles