สภาพัฒน์ชี้หนี้เสียบ้านในไทยพุ่งเกินหลัก 20% คนเลือกเบี้ยวหนี้บ้านก่อนเป็นหลัก การเงินคนไทยตึงสุดขีดกระทบเศรษฐกิจไทยระยะยาว

สภาพัฒน์ชี้ หนี้เสียบ้าน ในไทยพุ่งเกินหลัก 20% คนเลือกเบี้ยวหนี้บ้านก่อนเป็นหลัก การเงินคนไทยตึงสุดขีดกระทบเศรษฐกิจไทยระยะยาว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่าแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนข้อมูลจากเครดิตบูโร จะเห็นได้ว่ามูลค่าหนี้เสียเพิ่มสูงเป็น 23.2% จากเดิม 18.2% จากไตรมาสที่ผ่านมา และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.34% จาก 3.98% ของไตรมาสก่อนหน้า

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การที่คนไทยเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้าน ซึ่งที่อยู่อาศัยถือเป็นสินทรัพย์จำเป็นทั้งในแง่การอยู่อาศัย และยังใช้พื้นที่บางส่วนในบ้านเป็นสถานที่ในการประกอบอาชีพ ทำให้สะท้อนได้ว่าสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยตึงตัวมาก ด้านผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ลูกหนี้ที่มีการก่อหนี้หลายประเภทเกือบ 1 ใน 3 เลือกที่จะผิดนัดหรือหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนเป็นอย่างแรก ตามด้วยสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล

สาเหตุจาก ผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้จำกัด จึงเลือกรักษาวงเงินที่เหลือในสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลไว้จับจ่ายใช้สอยแทน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจำแนกตามวงเงินสินเชื่อ จะพบว่า วงเงินสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินอื่น นั่นหมายถึงครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวอีกด้วย

ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังเพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราการผิดนัดชำระที่สูง ซึ่งหากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ผ่านมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) แต่สัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสีย (NPLs) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในแต่ละประเภทสินเชื่อประจำไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 3% ชะลอลงจาก 3.5% ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เนื่องจากการสิ้นสุดการผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) และการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินสะท้อนจากมูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่กลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นขยายตัวก็จริง แต่ในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ 4.1% จาก 5% ของไตรมาสที่ 1 ผ่านมา สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นทั้งหมด ขยายตัว 4.4% เทียบกับ 4.2% ของไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวชะลอลงจาก 10.4% เหลือ 6.3% และสินเชื่อบัตรเครดิต หดตัว 1.1%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles