นายกลินท์ สารสิน ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Keizai Doyukai (สมาคมผู้นำนักธุรกิจญี่ปุ่น) กำหนดจัดงาน “The 50th ASEAN-Japan Business Meeting” (AJBM) ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม The Okura Prestige กรุงเทพมหานคร โดยเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำธุรกิจจากประเทศ ในกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่นมาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ที่สำคัญ การประชุมนี้เริ่มต้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในปี 2517 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสมาคม Keizai Doyukai เป็นผู้ริเริ่ม และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ความมั่นคงและการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกผ่านการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่าง ภาคเอกชน ซึ่ง AJBM ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพระหว่างประเทศสมาชิก
ตัวอย่างความสำเร็จของ AJBM ที่มีส่วนร่วมส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ในช่วง 49 ปีที่ผ่านมา อาทิ
-การส่งเสริมการค้าและการลงทุน : ความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านข้อตกลง AJCEP (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) ช่วยลดภาษีและส่งเสริมการเติบโตในภูมิภาค
-การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน: สนับสนุนการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน และการเชื่อมต่อดิจิทัล
-การสนับสนุนธุรกิจ SME: ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านการเงินและให้คำปรึกษา
-การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์: เพิ่มขีดความสามารถแรงงานด้านเทคโนโลยีและการจัดการ
การประชุม AJBM ครั้งนี้ที่ประเทศไทย จะช่วยสานต่อความสำเร็จ เพื่อสร้างความร่วมมือและ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ใน วันที่ 7 พฤศจิกายน จะมีการสัมมนาเต็มวัน และ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน จะมีกิจกรรม Thai Tourism Showcase ที่ผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศจะมีโอกาสท่องเที่ยวและสัมผัสวัฒนธรรมไทยอีกด้วย
ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของ AJBM ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม “Building Resilient Partnerships for Sustainable Futures” หมายถึงการ สร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งและยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า สะท้อนถึงความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วน ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นมาตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมา โดยจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น ความ มั่นคงทางอาหาร (Food Security) การเคลื่อนย้าย (Mobility) และการท่องเที่ยว (Tourism)
นอกจากนี้ ในการเสวนายังจะมีการหารือในสามหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของ บุคลากร (Human Resources), บทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และ การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งจะทำให้การเสวนาครอบคลุมเนื้อหาอย่างครบถ้วน ในการจัดการกับความท้า ทายที่ซับซ้อนที่ภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นกำลังเผชิญ
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสริมว่า The 50th ASEAN-Japan Business Meeting” (AJBM) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน ใน การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นใน session ต่างๆ ร่วมกับวิทยากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการต่อยอด แนวคิดและการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม หลังจบประชุม จะมีการจัดทำ Whitepaper เอกสารรวบรวมประเด็นสำคัญและข้อเสนอแนะจาก ที่ประชุมสำหรับผู้สัมมนาได้นำไปใช้ต่อ รวมถึงให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและ ดำเนินการ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ก่อให้เกิดการ ขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในภูมิภาค
สำหรับการประชุม The 50th ASEAN-Japan Business Meeting (AJBM) ครั้งนี้ ถือเป็นวาระสำคัญที่รวบรวมผู้นำธุรกิจจากอาเซียนและญี่ปุ่นมาร่วมกันหารือถึงความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค เป็นเวทีสำหรับการสะท้อนความคิด และการก้าวไปข้างหน้า เป็นโอกาสในการยืนยันถึงความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือที่จะปูทางสู่อนาคตที่สดใสและ มั่นคงมากขึ้นสำหรับภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น