กัปตัน ธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยว่า สมาคมนักบินไทย ขอเสนอรัฐบาล และครม.ชุดใหม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาธุรกิจด้านการบินของไทย ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้
- เสนอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนสายการบิน จัดหาเครื่องบินในรูปแบบเช่าเครื่องบินเปล่า หรือ Dry Lease มากกว่ารูปแบบเช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน หรือ Wet Lease ในปัจจุบันการจัดหาเครื่องบินในตลาดโลกที่กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนนั้น วิธีเช่าเครื่องบินเปล่าเหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน
สาเหตุจาก ปัจจุบันพบว่ามีสายการบินหนึ่งของไทยยื่นเรื่องไปกระทรวงแรงงาน เพื่อขอใช้นักบินต่างชาติ ซึ่งจะมาพร้อมกับการเช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน (Wet Lease) โดยนำมาทำการบินภายในประเทศเป็นการชั่วคราว กรณีดังกล่าวไม่เพียงผิดต่อกฎหมายแรงงานที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า นักบินเป็นอาชีพสงวนของคนไทย แต่ยังเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาติดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เนื่องจากอนุสัญญาชิคาโก มาตรา 83 ที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในประเทศภาคีที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้
นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินตกงานอยู่รวมกันกว่า 1,736 คน นับตั้งแต่วิกฤตการณ์โรคโควิด-19 นอกจากนี้ นักเรียนการบินที่จบใหม่และว่างงานอยู่ ซึ่งเกิดจากการผลิตนักบินใหม่ของโรงเรียนการบินที่เกินความต้องการของตลาดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น มีนำนวนนักบินไทยตกงานรวมกว่า 2 พันคน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนคนไทยด้วย ไม่ใช่อ้างแต่เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วจะมาปลดล็อกกฎหมาย หรือยกเว้นกฎหมายเป็นการชั่วคราว สิ่งที่น่ากังวล คือ หากสายการบินนี้ได้รับอนุญาตให้ทำได้ สายการบินอื่นๆ ก็ทำได้เช่นกัน
- ให้รัฐบาลมีการยกเว้นประเด็นในบางเรื่องของการผลิตบุคคลากรด้านการบิน ตามกฏระเบียบใหม่ Thailand Civil Aviation Regulation ด้าน Personnel Licensing (TCAR) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT
สมาคมฯ ขอให้มีการยกเว้นข้อกำหนดที่ต้องใช้ใบสำคัญทางการแพทย์ ในการต่อใบอนุญาตินักบิน ให้กับกลุ่มนักบินที่เกษียณแล้ว แต่มาทำหน้าที่สอนบิน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ทำการขึ้นบิน มาเป็นครูฝึกเครื่องฝึกบินจำลองเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนครูผู้สอนมากขึ้น
- ให้รัฐบาลลงมาให้ความสนใจกับปัญหา Pay to Fly อย่างจริงจัง ขณะนี้ บางสายการบินเริ่มเปิดรับสมัครนักบิน แต่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่อคนรวมกว่า 6 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าเรียนนักบินพาณิชย์ระดับตรี 3 ล้านบาท และค่า Type rating หรือการสอบการฝึกบินในเครื่องบินในแบบที่จะทำการบินอีก 3 ล้านบาท ส่งผลเป็นข้อจำกัดให้กับนักบินที่มีความรู้ความสามารถ แต่กลับไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้
เรื่องนี้เป็นการใช้ช่องว่างทางกฏหมาย ที่จะส่งผลต่อคุณภาพ เกิดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และความปลอดภัยในระยะยาว จากการที่นักบินต้องเป็นหนี้กว่า 6 ล้านบาท โดยยอมจ่ายเงินไปก่อน ก็จะทำให้เป็นความเครียดของนักบินได้ หากไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าครองชีพ