นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่าทุนประกันภัยรวมของประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท สามารถรองรับความเสี่ยงได้ทุกประเภท และความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้มากจนต้องกังวลกันไป ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยที่คุ้มครองภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จะมีจำนวนทั้งสิ้น 5,379,398 ฉบับ ประกอบด้วย กรุงเทพและปริมณฑล 2,233,518 ฉบับ และจังหวัดอื่นๆ 3,145,880 ฉบับ
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยต่อไปว่า หนึ่งในครั้งที่วงการประกันภัยไทยต้องเผชิญความท้าทายสูงมากอยู่ในช่วเกิดภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2554 ที่มีการเคลมประกันสูงมากระหว่าง 400,000 – 500,000 ล้านบาท ธุรกิจประกันก็ยังผ่านมาได้ แม้ยังไม่ทราบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็ตาม แต่ที่ผ่านมา คปภ. ได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยทำ Stress Test ที่รวมถึงกรณีแผ่นดินไหวมาตลอด และพบว่าธุรกิจประกันภัยยังมีความสามารถในการรองรับสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง
ดร. สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ความเสียหายหลักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพนั้น พบว่าเกิดขึ้นกับโครงสร้างอาคาร รถยนต์ ชีวิตคน บ้านอยู่อาศัย ซึ่งที่คาดว่าสัดส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดฯ รวมถึงตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง. ที่พังถล่ม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่สามารถรวบรวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากยังไม่มีการเคลมประกันเข้ามาอย่างครบถ้วน แต่ในเบื้องต้นได้ประเมินความเสียหายโดยรวมในแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะไม่เกิน 100,000 ล้านบาท นั่นคืออาจต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันหนี้สินในกองทุนประกันวินาศภัยอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท และสินไหมที่บริษัทประกันภัยต่างจ่ายออกไปแล้วคาดว่าไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท รวมทั้งหมดราว 150,000 ล้านบาท
สำหรับกรณีตึกสตง.พังถล่มนั้น ในวันนี้ 30 มีนาคม 2025 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ร่วมแถลงยืนยันว่า 4 บริษัทประกันภัยมีความมั่นคง พร้อมรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าสัญญาประกันภัยตึกสตง. มีความรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) อยู่ที่ 20% โดยมี 4 บริษัทประกันรับประกันภัยในสัดส่วนต่างกัน ได้แก่ 1.บริษัททิพยประกันภัย 40% 2.บริษัทกรุงเทพประกันภัย 25%, 3.บริษัทอินทรประกันภัย 25% และ 4.บริษัทวิริยะประกันภัย 10% ซึ่งแต่ละบริษัทจะรับผิดชอบค่าสินไหมตามสัดส่วนที่รับประกัน ด้านคปภ.เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบทั้ง 4 บริษัทแล้ว พบว่าทุกบริษัทได้ทำประกันภัยต่อเพื่อรองรับความเสี่ยงไว้ครบถ้วน จึงไม่ต้องกังวลว่าบริษัทจะมีปัญหาในการรับผิดชอบค่าสินไหมหรือจะกระทบต่อความมั่นคงของบริษัท การทำประกันภัยต่อทั้งในและต่างประเทศถือเป็นวิธีบริหารความเสี่ยงที่ใช้กันตามปกติ