นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เดินสายพบห้างค้าปลีกค้าส่ง 5 แห่ง ขอจัดระเบียบกำหนดแนวทางตั้งราคาขายเนื้อหมูตามโครงสร้างต้นทุนฟาร์ม เพื่อไม่ให้กระทบราคาหน้าฟาร์ม โดยขอให้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการอยู่ร่วมกันของผู้เลี้ยงสุกรและผู้จำหน่ายเนื้อสุกรซึ่งเป็นต้นน้ำและปลายน้ำของห่วงโซ่อุตสาหกรรมสุกร
โดยการเลี้ยงสุกรและการจำหน่ายเนื้อสุกร มีความเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งราคาจำหน่ายของห้างค้าปลีกในปัจจุบันนั้น มีผลกระทบโดยตรงต่อราคาหน้าฟาร์มของเกษตรกร สมาคมฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลเกษตรกรและผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการตั้งราคาขายของห้างค้าปลีก เพราะที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้วในช่วงที่มีหมูเถื่อนระบาดอย่างหนักและห้างบางแห่งจัดรายการโปรโมชั่นชิ้นส่วนเนื้อหมูในราคาต่ำมาก เป็นเหตุให้เกษตรกรถูกผู้ค้าหมูนำมาใช้อ้างอิงเพื่อกดราคาหมูหน้าฟาร์ม จนเกษตรกรเดือดร้อนต้องขายหมูขาดทุน
สำหรับรายละเอียดข้อเรียกร้องที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เสนอเป็นแนวทางการหารือ ประกอบด้วย
1. สมาคมฯ จะเสนอให้กรมปศุสัตว์ ออกระเบียบการระบุฟาร์มต้นทาง แหล่งที่มาของเนื้อสุกรที่วางจำหน่ายปลีก ณ จุดจำหน่ายในกลุ่มสินค้าเนื้อสุกร ปศุสัตว์ OK และขยายไปถึงเนื้อสุกรทั่วไป
2. ขอให้ห้างค้าปลีกตั้งราคาจำหน่ายปลีก ส่วนเนื้อแดงไม่ต่ำกว่า 1.8 เท่า ของราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม
3. สมาคมฯ จะส่งข้อมูลการคาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกร ของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกร ให้ทราบทุกไตรมาส เพื่อใช้เป็นตัวตั้งต้นประกอบเกณฑ์ร่วมของผู้ค้าส่ง ค้าปลีกที่จะนำมาซึ่งจำนวนเท่าของการตั้งราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนเนื้อแดง ในไตรมาสนั้นๆ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบย้อนกลับไปยังราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
4. กรณีที่มีการตรวจพบว่าห้างค้าส่งค้าปลีกใดที่มีการตั้งราคา ตามจำนวนเท่าที่นำไปคูณ ต่ำกว่าที่ตกลง สมาคมจะมีหนังสือเตือน หากไม่มีการแก้ไขในการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ตกลงกัน สมาคมฯ จะยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ทั้งนี้ ห้างใหญ่ขณะนี้แข่งขันกันลดราคาทำให้ราคาหมูในห้างอยู่ที่กิโลกรัมละ 102-103 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ไม่ได้เพราะมีราคาต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท หากคูณ 1.8 เข้าไปจะตกต้นทุนต่อหมู 1 ตัวที่กิโลกรัมละ 126 บาท ดังนั้นหากจะให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอยู่ได้จะต้องขายกิโลกรัมละ 120-125 บาทขึ้นไป ทั้งนี้หากข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบสนอง จะเดินหน้าไปเรียกร้องกับกรมการค้าภายในและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งต่อไป โดยการเรียกร้องกับกรมการค้าภายใน จะไปหารือว่าจะวางรูปแบบการตลาดอย่างไร ราคาขั้นต่ำควรจะอยู่ที่เท่าไร เพราะถ้าหากห้างใหญ่ยังดั๊มพ์ราคาแข่งขันกัน ผู้เลี้ยงและเกษตรกร จะล้มหายตายจากไปอย่างแน่นอนกับอาชีพนี้