จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สำหรับจุดที่พังถล่มเป็นจุดแรกคาดการณ์ว่า เกิดขึ้นที่บริเวณผนังปล่องลิฟต์ น่าจะเป็นช่วงชั้นล่างๆ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชั้นใดก่อน เมื่อปล่องลิฟต์พังถล่มแล้วจึงฉุดรั้งให้เสาอาคาร รวมทั้งส่วนอื่น ๆ ของอาคารพังถล่มลงมาทั้งหลังอย่างสิ้นเชิง
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายถึงข้อสันนิษฐานสาเหตุที่เป็นไปได้ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ
1. ความแรงของแผ่นดินไหว
2. การคำนวณออกแบบอาคาร
3. การก่อสร้างอาคาร
และ 4. คุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเสริม อุปกรณ์ต่อเหล็ก เป็นต้น ซึ่งแต่ละปัจจัยย่อมต้องมีการพิสูจน์ให้แน่ชัดโดยจะต้องคำนึงถึงองค์ความรู้และวิทยาการด้านนิติวิศวกรรมศาสตร์ (Forensic Engineering) ที่ทันสมัยโดยมีข้อสังเกตดังนี้
-การพิสูจน์การออกแบบ โดยการสร้างแบบจำลอง จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานในห้วงเวลาที่ทำการออกแบบ และหากพบการออกแบบผิดพลาด จะต้องตรวจสอบโดยแบบจำลองที่ละเอียดกว่า เพื่อพิสูจน์ว่า เป็นสาเหตุให้การเกิดพังถล่มหรือไม่
-การเก็บตัวอย่างคอนกรีตไปทดสอบ จะต้องเก็บตัวอย่างให้ครอบคลุม ในส่วนที่เป็นเนื้อโครงสร้างที่แข็งแรง และบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดอ่อน เช่น บริเวณรอยต่อการเทคอนกรีต (Cold joint) และควรนำเสนอผลการทดสอบให้สาธารณะ ทราบโดยเร็ว
-จะต้องเก็บรักษาวัตถุพยาน เพื่อรอการพิสูจน์โดยวิทยาการที่ทันสมัย หรือ มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมพิสูจน์
-แรงแผ่นดินไหว ต้องอาศัยข้อมูลการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวตามสถานที่ต่างๆ
ทั้งนี้ ในเรื่องการพังถล่มของอาคาร มีประเด็นปัญหาเรื่องวิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการปลอมลายมือชื่อวิศวกร อายุ 85 ปี ทำการรับรองการคำนวณออกแบบ วิศวกรต่างด้าว และอื่นๆ จึงมีข้อเรียกร้องต่อสภาวิศวกร ดำเนินการอย่างจริงจังกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน เนื่องจากความปรากฏต่อสาธารณะแล้ว สภาวิศวกรสามารถใช้วิธีกล่าวโทษเพื่อเริ่มกระบวนการจรรยาบรรณต่อวิศวกรที่เกี่ยวข้องได้เลย โดยขอเรียกร้องให้สภาวิศวกรเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหา อย่างเร่งด่วน
ศ.ดร.อมร อธิบายเพิ่มเติมว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันเหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหวเช่นนี้ในอนาคต เช่นพระราชบัญญัติวิศวกร กำหนดสมรรถนะของวิศวกรในการออกแบบอาคารสูงหรือใหญ่พิเศษภายใต้แรงแผ่นดินไหว เพิ่มโทษการปลอมแปลงใบอนุญาต เพิ่มอำนาจระงับใช้ใบอนุญาตชั่วคราว,พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารราชการต้องขออนุญาตเช่นเดียวกับอาคารเอกชน กำหนดให้มีการตรวจสอบการออกแบบอิสระ (Blind independent check) มีกฎหมายให้ประเมินและเสริมกำลังอาคารเสี่ยงตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล อาคารสูง เป็นต้น,พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่ม มอก. บังคับ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น คอนกรีตผสมเสร็จ อุปกรณ์ต่อเหล็กทางกล เป็นต้น,พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์พังถล่มของอาคาร,พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนดขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างข่วง และหลักเกณฑ์การจ้างช่วง เพิ่มความโปร่งใสในขั้นตอนการก่อสร้าง เช่น การแก้ไขแบบ การทดสอบวัสดุ ต้อง upload ขึ้นระบบให้ตรวจสอบได้, พระราชบัญญัติการผังเมือง เพิ่มผังสีความเสี่ยงแผ่นดินไหว โดยอาศัยหลักการ Microzonation