นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คงคาดการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโตที่ 1-3% ตามเดิม โดยยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ แต่ขอหารือกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นรายสินค้าแต่ละตัว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยคาดว่ามาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า เมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ส่งออกไปได้ลดลง โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนเนื่องจากประเทศคู่แข่งเสียภาษีน้อยกว่า ได้แก่ สับปะรด (ฟิลิปปินส์) ผลิตภัณฑ์ยางพารา (มาเลเซีย) ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการเข้ามาทำตลาดของประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนถูกกว่า
ทั้งนี้ อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทย 36% นั้นสูงเกินคาดหมาย โดยคำนวณจากยอดเกินดุลการค้าของไทย ซึ่งเราต้องกลับมาหาข้อเท็จจริงหลังยอดส่งออกในช่วงไตรมาสแรกโตกว่า 10% เนื่องจากมีการเร่งส่งออกก่อนที่จะมีการประกาศอัตราภาษีตอบโต้ แต่ภาคการผลิตในประเทศกลับไม่ได้เติบโตตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างการผลิต และทบทวนนโยบายกับประเทศคู่ค้าทั้งหมด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการในประเทศ โดยมีปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ได้แก่
1) Trade War Trump 2.0 ความไม่นอนของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากมาตรการภาษีศุลกากร ส่งผลให้ต้นทุนทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น
2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-กลุ่มฮามาส แม้มีข้อตกลงหยุดยิงแต่ยังคงมีการปะทะกันในหลายพื้นที่
3) ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และปัจจัยราคาทองคำ
4) ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล
นอกจากนี้ สรท.ได้เสนอรัฐบาลให้เร่งเจรจาสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย, เร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า, ใช้แนวทาง ASEAN+ ในการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ และเร่งเจรจาและใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตลอดจนเร่งปฏิรูปการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย
รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบหลัก, การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมต้นน้ำและซัพพลายเออร์ภายในประเทศ, อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีการยกระดับ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า จากการหลบเลี่ยงมาตรการสหรัฐเข้ามาทุ่มตลาดไทย รวมถึงการทำ re-export ผ่าน Free Zone อีกทั้งยังต้องเร่งปฏิรูประบบโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของไทย ให้แข่งขันได้ อาทิ เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เร่งพัฒนาระบบ National Single Window ให้เป็น Single Submission โดยสมบูรณ์ เร่งรัดพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) และส่งเสริมการถ่ายลำ (Transshipment) เป็นต้น