สรรพสามิตจ่อเก็บภาษีคาร์บอนในน้ำมันปี 68 จะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน

สรรพสามิตจ่อเก็บ ภาษีคาร์บอนในน้ำมัน ปี 68 จะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมได้รับมอบนโยบายจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งให้กรมสรรพสามิตเป็นหัวหอกนำด้านสีเขียว เนื่องจากบทบาทของกรมในอนาคตจะต้องขับเคลื่อนในเรื่อง ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือการจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยกรมก็ได้เสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการการคลังไปเบื้องต้น สำหรับหลักการของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับ โดยระยะแรก การเก็บภาษีคาร์บอนของเมืองไทย จะเริ่มจากภาษีน้ำมัน

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะเชื่อมโยงกับพ.ร.บ.โลกร้อน ซึ่งจะออกมาในปี 2568 โดยการทำคาร์บอนแท็กนั้น กรมได้ศึกษาทั่วโลกมาแล้ว โดยเราจะนำมาตรฐานสากลมาใช้ คือ การจัดเก็บภาษีจากต้นน้ำ ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีรถยนต์ ในอดีตจัดเก็บตามกระบอกสูบ และขณะนี้เปลี่ยนจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นจัดเก็บจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรถยนต์คันหนึ่ง หากปล่อยคาร์บอนเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะต้องเสียอัตราภาษี 35% แต่หากต่ำกว่า 150 กรัมต่อกิโลเมตร จะต้องเสียภาษี 25%

นายเอกนิติ กล่าวว่า เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ในระยะแรกจะเริ่มจากน้ำมัน กรมสามารถทำเนินการได้เลยทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากการจัดเก็บต่อลิตร แปลงเป็นการเก็บภาษีต่อการปล่อยคาร์บอน กล่าวคือ ปัจจุบันการเก็บภาษีน้ำมันคิดสัดส่วนตามลิตร เช่น ดีเซล เก็บภาษี 6.44 บาทต่อลิตร แต่กรมจะแปลงจากการเก็บภาษีดังกล่าว ให้ไปผูกกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

โดยน้ำมัน 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0026 ตันคาร์บอน และกรมได้เสนอรมช.คลัง ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 200 บาทต่อตันคาร์บอน เฉลี่ย 1 ลิตร เก็บ 46 สตางค์ ใกล้เคียงอัตราการจัดเก็บของประเทศสิงค์โปร ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าว สามารถทำได้ในทันที ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ เพราะมีภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว และเราจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน ที่เก็บภาษีคาร์บอน

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนได้ในปีงบประมาณ 2568 ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้กระทบประชาชน เนื่องจากอยู่ในราคาของน้ำมันอยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมันไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ เป็นการออกกฎกระทรวง และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

“อนาคตหากเราเติมน้ำมันจะรู้ได้เลยว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ในช่วงแรกเราจะไม่ให้กระทบประชาชน และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทันที คือ ยุโรป หรือ ซีแบม จะเริ่มมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน 5 ชนิด ในปี 2569 ฉะนั้น หากโรงงานที่เข้าข่าย ส่งออกสินค้าไป เช่น โรงเหล็กไทยที่ซื้อน้ำมันดีเซลมาหล่อหลอมเหล็ก ก็จะมีภาษีคาร์บอนอยู่ในน้ำมันดีเซล ซึ่งเรากำลังเจรจาให้นำที่จ่ายน้ำมันดีเซลเป็นคาร์บอนแท็ก ไปหักลบได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมได้สนับสนุนมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวี ซึ่งช่วยทำให้คนเปลี่ยนมาใช้รถอีวีมากยิ่งขึ้น โดยปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดการใช้รถอีวีโต 685% ส่วนนี้ทำให้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บรถอีวีลดลง เพราะภาษีสรรพสามิตจากเดิมจัดเก็บ 8% ตอนนี้ลดเหลือ 2% อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้ช่วยลดคาร์บอนได้แล้วกว่า 2.4 แสนตันคาร์บอน และยังแลกเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้ามาตั้งโรงงานการในประเทศไทย เพื่อผลิตรถอีวีชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์อีวีเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวกว่า 22 บริษัท ช่วยให้มีเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยกว่า 8 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน กรมยังได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่อยู่ที่อัตรา 8% เท่ากันทั้งหมด เช่น แบตเตอรี่รถยนต์โบราณ ไฟฉาย พาว์เวอร์แบงก์ เป็นต้น ฉะนั้น สิ่งที่กรมจะเดินหน้า คือ จะต้องทำให้เกิดความแตกต่าง หากคำนึงถึงเรื่องรีไซเคิล กรมก็จะลดอัตราภาษีลง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles