นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการเร่งพิจารณา ภาษีคาร์บอน ซึ่งในระยะยาวจะเป็นฐานภาษีตัวใหม่ที่เข้ามาช่วยเสริมบทบาทของกรมที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องภาษีคาร์บอนไปแล้ว 80-90% หลักการ คือ กรมฯ จะเข้ามาช่วยสร้างกลไกราคาคาร์บอน ซึ่งภาษีคาร์บอนจะแทรกอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าในการดำเนินการในช่วง 2 ปีแรก จะไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน เช่น ปัจจุบันเก็บภาษีน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งตามมาตรฐานโลก ประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอน จะอยู่ที่ 0.0027 ตันคาร์บอนต่อลิตร โดยระดับดังกล่าว จะไม่กระทบกับประชาชน และไม่กระทบกับรายได้ของกรมฯ อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างเร่งศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ เพื่อเตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยปัจจุบันเก็บภาษีในอัตรา 8% ทุกประเภทแบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้มีข้อสรุปเบื้องต้น คือ จะพิจารณาจากคุณภาพของแบตเตอรี่เป็นหลัก เช่น หากเป็นแบตเตอรี่คุณภาพสูง เก็บพลังงานได้เยอะ ชาร์จได้เกิน 1 พันรอบ มีความทนทาน ใช้ได้นาน ก็อาจจะเก็บภาษีในอัตราที่ถูกลง แต่หากเป็นแบตเตอรี่คุณภาพไม่สูง ก็อาจจะเก็บภาษีในอัตราที่แพงกว่า ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีที่จัดเก็บจะออกมาเป็นตารางตามคุณภาพของแบตเตอรี่
“ถ้าแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง คือ ชาร์จได้หลายครั้ง เกิน 1 พันรอบ อึด ทน ใหญ่ เราอาจให้ภาษีถูกลง คิดว่าจะต่ำกว่า 8% กำลังศึกษาอยู่ และประเด็นสิ่งแวดล้อม ถ้าใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ต้องเก็บภาษีแพงกว่า แต่ถ้าใช้ได้หลายครั้ง ภาษีก็จะถูกลง” นายเอกนิติ ระบุ
นายเอกนิติ กล่าวถึงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 9 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-มิ.ย.67) ว่า มียอดจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.94 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.3% ซึ่งมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1-2%
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน คิดเป็นการสูญเสียรายได้ราว 25,000 ล้านบาท ซึ่งภาษีสรรพสามิตน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ทั้งหมด
2.การจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก 8% เหลือ 2% และอีกส่วนหนึ่งมาจากสภาพโดยรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศที่หดตัวแรง โดยยอดการผลิตรถยนต์ลดลงจากปีก่อนราว 30% อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งภาษีสรรพสามิตรถยนต์ คิดเป็น 20% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ และ 3. การชะลอตัวลงของภาษีสรรพสามิตยาสูบ ซึ่งรายได้หายไปอีกประมาณ 8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ รายได้จากภาษีเครื่องดื่ม ที่ขยายตัว 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงภาษีสุรา ภาษีเบียร์ ภาษีสนามกอล์ฟ ภาษีสถานบริการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะมีส่วนเข้ามาช่วยเสริมการจัดเก็บรายได้ในภาพรวมของกรมฯ ในปีงบ 67 ให้ยังสามารถเติบโต 12-13% จากปีที่ผ่านมา โดยยอมรับว่ายังเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ก็จะพยายามให้เต็มที่ สิ่งที่มาช่วยทดแทน คือ ภาษีจากเหล้า เบียร์ แบตเตอรี่ สนามกอล์ฟ สถานบริการที่เติบโตดี ก็เข้ามาช่วยได้เยอะ ภาพรวมทั้งปี จะพยายามให้เต็มที่ มั่นใจว่าปิดปีงบประมาณนี้ การจัดเก็บรายได้จะเติบโตราว 12-13% จากปีก่อน