สะกิดจีดีพีโลกนิดๆ -4.4%! คนจนสุดๆพุ่งแตะ 90 ล้านคน

527
0
Share:

นางกีต้า โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยว่า ไอเอ็มเอฟปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก หรือจีดีพีปี 2563 กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ -4.4% จากเดิมที่คาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ว่าจะตกต่ำมากถึง -5.2% สำหรับตัวเลขจีดีพีที่ปรับใหม่ในครั้งนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า มีการใช้มาตรการรักษาระยะห่างกับสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ถึงปี 2564 และการติดโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นภายในแต่ละประเทศทั่วโลกจะลดลงภายในสิ้นปี 2565 เท่านั้น

.

สาเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจโลกปีนี้ เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และจีนแผ่นดินใหญ่ที่ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ รวมถึงเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 ไอเอ็มเอฟปรับตัวเลขจีดีพีของสหรัฐอเมริกาในปีนี้มาเป็น -4.3% จากเดิม -8% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มยูโรจะมีจีดีพีดีปีนี้ดีขึ้นจากเดิมที่ระดับ -10.2% มาเป็น -8.3% ส่วนปี 2564 กลุ่มยูโรจะมีจีดีพีขยายตัวที่ระดับ 5.2% ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่จะขยายตัวในปีนี้ที่ 1.9% และทะยานขึ้นเป็น 8.2% ในปี 2564 หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2564 จะขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

.

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟเตือนว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยังคงห่างไกลจากจุดจบสิ้นอย่างมาก รวมถึงภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังคงยาวไกล ไม่มีความแน่นอน และไม่เป็นปกติ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับลดจีดีพีโลกในปี 2564 ลง 0.2% จากเดิมที่ประเมินในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ระดับ 5.4% เหลือ 5.2% สำหรับภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีภาวะที่เลวร้ายอย่างชัดเจน ทำให้ไอเอ็มเอฟประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มดังกล่าวปีนี้จะตกต่ำ -3.3% โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียจะทรุดลงอย่างรุนแรงถึง -10% ในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่มี 5 ประเทศอันดับต้นๆ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วยนั้น จะมีจีดีพีปีนี้ตกต่ำ -3.4%

.

ด้านภาวะหนี้สาธารณะของประเทศทั่วโลกนั้น นางกีต้า โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF เปิดเผยว่า ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะทะยานถึง 125% ของจีดีพีภายในสิ้นปี 2564 สอดรับกับสัดส่วนหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะทะยานถึง 65% ของจีดีพีภายในสิ้นปี 2564 เช่นกัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF กล่าวต่อไปว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จะส่งผลให้ประชาชนจำนวน 90 ล้านคนที่ยากจนอยู่แล้วจะต้องทุกข์ยากมากขึ้นจากความยากจนที่จะพุ่งสูงขึ้น

.

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ แนะนำให้รัฐบาลในแต่ละประเทศทั่วโลกดำเนินมาตรการการคลังด้านนโยบายภาษีในลักษณะมีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระดับหนี้สาธารณะจะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงในระยะปานกลาง นับตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นมานั้น มาตรการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ และมาตรการการเงินของธนาคารกลางที่ไม่เคยใช้อย่างมโหฬารมาก่อน รวมกันทั้งหมดราว 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 385 ล้านล้านบาท สามารถจำกัดมูลค่าความเสียหายในวงจำกัดระดับหนึ่ง สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆที่ยังคงส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ความตึงเครียดระดับภูมิภาค ความขัดแย้งการค้าโลก ความหายนะทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของตลาดการเงิน รวมถึงภาวะโรคระบาดอื่นๆ