สมาคมค้าทองคำได้ประกาศราคาขายทองคำในประเทศไทยช่วงสัปดาห์หนี้ระหว่างวันที่ 4-9 มีนาคม 2567 พบว่า มีการประกาศปรับราคารวมทั้งหมด 29 ครั้ง ส่งผลราคาปรับทะยานขึ้นสุทธิ +1,300 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ +217 บาท ทำให้ผลตอบแทนจากราคาทองคำในสัปดาห์นี้ทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณเพิ่มขึ้น +3.70% นอกจากนี้ ยังเป็นสัปดาห์ที่ทำสถิติราคาปิดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 4 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 4 (แท่ง 35,200 รูปพรรณ 35,800), 5 (แท่ง 35,900 รูปพรรณ 36,500), 7 (แท่ง 36,250 รูปพรรณ 36,850) และ 9 มีนาคม (แท่ง 36,400 รูปพรรณ 37,000)
ในขณะที่ตั้งแต่ต้นเดือนนี้ หรือวันที่ 1-9 มีนาคม 2567 ราคาปรับทะยานขึ้นสุทธิ +1,900 บาท ทำให้ผลตอบแทนจากราคาทองคำทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณเพิ่มขึ้น +5.50% ในรูปเงินบาท และตั้งแต่ต้นปีนี้หรือวันที่ 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2567 ราคาปรับทะยานขึ้นสุทธิ +2,850 บาท ทำให้ผลตอบแทนจากราคาทองคำทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณเพิ่มขึ้น +8.47% ในรูปเงินบาท
ด้านราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Spot ที่ตลาดสิงคโปร์ในเดือนมีนาคมนี้ หรือวันที่ 1-9 มีนาคม 2567 ราคาปรับทะยานขึ้นสุทธิ +141.50 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น +6.95% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ และตั้งแต่ต้นปีนี้หรือวันที่ 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2567 ราคาปรับทะยานขึ้นสุทธิ +114.50 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น +5.55% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ตลาดสิงคโปร์ปิดตลาดเมื่อวันเสาร์ผ่านมาอยู่ที่ 2,178.50 ดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่
ขณะที่เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม หรือตั้งแต่วันที่ 1-9 มีนาคม 2567 ปรากฏว่าปิดตลาดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคมผ่านไปที่ 34.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลเงินบาทสุทธิปรับแข็งค่าขึ้นราว 1.28% หรือ +0.46 สตางค์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้หรือวันที่ 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2567 ปรากฏว่าปิดตลาดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคมผ่านไปที่ 34.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลเงินบาทสุทธิปรับอ่อนค่าลงราว 2.97% หรือ 1.02 สตางค์
ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวม สาเหตุจากค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปีมาถึงสิ้นสุดสัปดาห์หนี้แรกของมีนาคม เป็นผลจากมุมมองการลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐยังคงให้น้ำหนักไปที่การไม่เร่งรีบที่จะลดดอกเบี้ยตามกรอบเวลาเดิมที่ตลาดประเมินไว้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าวครั้งแรกในรอบ 1 ปีกว่าผ่านมาจะเกิดขึ้นในช่วงราวกลางปีนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนส่งราคาทองคำในประเทศไทยพุ่งขึ้นสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ต่อเนื่อง
สำหรับราคาทองคำเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น +150 บาท ทำให้ทองคำแท่งรับซื้อที่บาทละ 36,400 บาท ขายออกบาทละ 36,500 บาท ราคาทองคำรูปพรรณรับซื้อบาทละ 35,747.28 บาท และขายออกบาทละ 37,000 บาท ทั้งหมดเป็นราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่
ในสัปดาห์หน้า หรือตั้งแต่วันที่ 11-15 มีนาคม 2567 นักวิเคราะห์ตลาดทองคำโลก มองว่าในภาพรวมมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองคำตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ โดยเฉพาะให้ติดตามวันอังคาร และวันพฤหัสบดีที่จะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภค และผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนต่อมุมมองการปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงราวกลางปีนี้ หากตัวเลขเงินเฟ้อทั้ง 2 ประเภทลดต่ำลงกว่าที่คาด จะกดดันการเร่งลดดอกเบี้ยสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์ร่วงอ่อนค่าลง และราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ถ้าหากตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ผลการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาทองคำจะกลับตรงกันข้ามทันที
ทั้งนี้ ในปี 2566 ผ่านไป ราคาทองคำในประเทศไทย ทำสถิติราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ราคาทองคำทั้งทองแท่งและทองรูปพรรณ พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ โดยทองคำแท่งรับซื้อที่บาทละ 34,300 บาท ขายออกบาทละ 34,400 บาท ราคาทองคำรูปพรรณรับซื้อบาทละ 33,685.52 บาท และขายออกบาทละ 34,900 บาท