น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงตั้งเป้าหมายการท่องเที่ยวปี 2567 สร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท ภายใต้การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 40 ล้านคน สร้างรายได้รวมทั้งตลาดในและต่างประเทศ 3.5 ล้านล้านบาท กระทรวงและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงอยู่ระหว่างวางกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกันว่าต้องใช้วิธีใดบ้าง อาทิ การกระตุ้นตลาดด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของนายกฯ
น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า ได้ให้โจทย์แก่สำนักงาน ททท.ที่รับผิดชอบตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ในจำนวนตลาดที่เข้ามาเที่ยวไทยสูงสุด 10 อันดับแรก แต่ละตลาดจะต้องสร้างการเติบโต 2 หลัก หรือไม่น้อยกว่า 10% ในปี 2567 อาทิ ตลาดรัสเซีย ต้องขยายตัวให้ได้ 10-15% ทั้งนี้ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ กระทรวงจะประชุมร่วมกับ ททท. เพื่อติดตามแผนงานเพิ่มชาร์เตอร์ไฟลต์จากตลาดเป้าหมายทั้งระยะใกล้และระยะไกล ได้แก่ รัสเซีย กลุ่มสแกนดิเนเวีย เกาหลีใต้ รวมไปถึงจีน แม้จีนกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ แต่ด้วยตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีกลุ่มพร้อมออกเดินทาง การเร่งขยายชาร์เตอร์ไฟลต์สู่เมืองรองของจีนจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยให้ไปถึงเป้าหมาย 8 ล้านคนในปีนี้ได้
โดยเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ถือเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 11 ล้านคน โดยโครงสร้างตลาดเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) 40% และนักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ 60% ที่เดินทางด้วยชาร์เตอร์ไฟลต์กว่า 25-30% ทำให้การกระตุ้นตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์ถือเป็นแทคติคที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเมืองรองที่ยังไม่มีเที่ยวบินประจำ ให้สามารถเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ โดยเมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางด้วยชาร์เตอร์ไฟลต์ครองสัดส่วน 17-20% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน แต่เมื่อปี 2566 มีสัดส่วนเหลือเพียง 3% เท่านั้น จำเป็นต้องเร่งเบ่งตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์ให้ได้ 15% ในปีนี้
อย่างไรก็ตามคาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้(19 ก.พ.) จะมีการพิจารณายกเลิกข้อห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. โดยอาจจะนำร่องยกเลิกในบางจังหวัดก่อน รวมถึงยกเลิกข้อบังคับการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งได้ประกาศใช้มาเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะพบว่าไม่มีข้อเสียโดยตรงต่อปริมาณการดื่มหรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุ