สึนามิภาษีทรัมป์ทุบตลาดหุ้นไทยดิ่งกว่า 8% ใน 8 วันผ่านมา ฟุ้งราคาหุ้นไทยน่าสนใจ หุ้นไทยมีนาคมดิ่งเกือบ 4% หนักกว่าในภูมิภาค ดิ่งเหวกว่า -17% เลวร้ายหนักของโลก

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.เปิดเผยว่า นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากร (2 เม.ย.) ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและความเสี่ยงเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยจนถึงเมื่อวานนี้ (8 เม.ย.) ปรับลดลงไปประมาณ 8.4% ถือว่าอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงบริบทการค้าขาย ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐเรียกเก็บถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ และสิ่งสำคัญคือการเข้าไปเจรจาต่อรองของแต่ละประเทศก็ยังไม่ทราบโมเดลที่ชัดเจน จึงเป็นความไม่แน่นอนที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนก

ในวันที่ 8 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เมษายน 2568

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดต่อตลาดหุ้นไทยจะมี 2 ส่วน คือ การแพนิก เกิดการ Overreact ต่อการขาย หรือตอบสนองต่อข่าวไวเกินไป ซึ่งคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีมาตรการออกมาทั้งเรื่อง celling & floor และการปรับ Dynamic Price Band ให้แคบลง รวมถึงการห้าม short sell ชั่วคราว จนถึง 11 เม.ย. 68 ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นไทย ไม่ Overreact และปรับน้อยลงหรือใกล้เคียงเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ

ส่วนในระยะถัดไปก็ต้องมีการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบต่อภาวะตลาดหุ้นไทย อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้น และประเทศไทย เคยมีประสบการณ์จากภัยพิบัติในอดีต จะเห็นได้ว่าตลาดทุน กลับมาฟื้นตัวหลังจากภัยพิบัติหมดไปได้ ส่วนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ เป็นผลกระทบที่เกิดกับทุกประเทศ หากเกิดความชัดเจนเร็วขึ้นเท่าไรก็จะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจมากขึ้นได้

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่อง และปริมาณการซื้อขายในช่วงปลายเดือนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐประกาศมาตรการเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ลงทุนกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทย

รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแจ้งปิดการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai TFEX ในภาคบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติในอดีตทั้งสึนามิ ปี 2547 และน้ำท่วม ปี 2554 แม้ว่ามีผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้ลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม แต่ผลกระทบเหล่านี้มักเป็นระยะสั้นและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

โดยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งกระทบกับกลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมี บจ. ในกลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ พบว่า บจ. ยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ อีกทั้ง SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด

สำหรับเดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3%

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท หรือลดลง 10.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวม อยู่ที่ 42,826 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles