นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าเดิมคาดว่าถ้าสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11% การส่งออกจะเสียหาย 7,000-8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 1 ปี แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลสหรัฐขึ้นภาษีไทยสูงถึง 37% อาจจะทำให้การส่งออกเสียหาย 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทถ้าไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเจรจาต่อรองแล้วเป็นผลสำเร็จ ก็อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่ จะต้องรอดูผลการเจรจาอีกครั้ง
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่าเบื้องต้นพบว่าสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมาก จะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่าสูง โดยสินค้า 15 อันดับแรกที่ส่งออกไปสหรัฐมาก ได้แก่ 1. โทรศัพท์มือถือ 2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3. ยางรถยนต์ 4. เซมิคอนดักเตอร์ 5. หม้อแปลงไฟฟ้า 6. ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7. ชิ้นส่วนรถยนต์ 8. อัญมณี 9. เครื่องปรับอากาศ 10. กล้องถ่ายรูป 11. เครื่องพรินเตอร์ 12. วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 14. ข้าว และ 15. ตู้เย็น
สำหรับแนวทางการเจรจาของไทยกับสหรัฐวางไว้ 3 แนวทาง คือ ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐ
ต่อมาคือเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐ และลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐ โดยมั่นใจว่าจะเจรจาต่องรองกับสหรัฐได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการที่สหรัฐได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน การเป็นพันธมิตรที่ดี
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่ายังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ ไทยพร้อมที่จะเจรจาทุกเมื่อ รอเพียงให้สหรัฐรับนัดมา ถ้าเดินทางไปไม่ทัน ก็จะมีทีมไทยแลนด์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหัวหน้าคณะ แต่หากมีเวลาเดินทางไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะไปเจรจาเอง
ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บอัตราภาษีศุลกากรใหม่เป็นภาษีศุลกากรพื้นฐาน กับสินค้านำเข้ามายังสหรัฐจากทุกประเทศ 10% และยังเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนที่สหรัฐมองว่าเป็นประเทศที่ทำผิดร้ายแรงกับสหรัฐ โดยไทยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 36% แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568