นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าไทยได้เข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง เป็นผลให้หลายภาคส่วนธุรกิจต้องปรับตัว แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นโอกาส ให้กับ ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุเติบโต ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลของ องค์การสหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขและการคาดการณ์จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลก พบว่า ในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 1.15 พันล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับไทยในปี 2566 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรไทยทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.353
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.89 ต่อปี การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุของไทย ประกอบกับภาวะประชากรสูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และจำนวนประชากรโสดได้มีการขยายตัว อีกทั้งอัตราการสร้างครอบครัวที่ต่ำลง อัตราการมีลูกที่ลดลง การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น การเจ็บไข้และป่วยเรื้อรังที่ต้องการคนดูแลตลอด 24 ชม. รวมถึงความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยี ล้วนเป็นแรงสนับสนุนให้ความต้องการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองการดำรงชีพพื้นฐานของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริบาล หรือเนอร์สซิ่งโฮม ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ข้อมูลจากรายงานการวิจัยตลาดโดย Zion Market Research เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7.5 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2566-2575 โดยมูลค่าตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน (Adult Day Care) สถานบริบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (Institutional Care) และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Care) ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1,025.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 1,965.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2575 ด้วยปัจจัยของอายุขัยประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และภาวะการมีโรคประจำตัวต่างๆ ในวัยสูงอายุที่สูงขึ้น เช่น โรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์
ทั้งนี้ ตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับการที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักเป็นจุดหมายปลายทางในการพำนักระยะยาวในวัยเกษียณ ของชาวต่างชาติจากทั่วโลก (Retirement Destination) เป็นอานิสงส์กระตุ้นให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ
ส่วนปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการในรูปแบบนิติบุคคลอยู่จำนวน 887ราย10 และจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในประเทศไทย สะสม ณ เดือนมิถุนายน ปี 2566 มีจำนวน 758 แห่ง เป็นประเภทสถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือเนอร์สซิ่งโฮม จำนวน 708 แห่ง ใน 55 จังหวัด และช่วงระหว่างปี 2561–2566 จำนวนเนอร์สซิ่งโฮม มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 25.1 ต่อปี11 ซึ่งโดยมากยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้ขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ผอ. สนค. ให้ความเห็นว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยง และอาศัยธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ดียังมีความท้าทาย เช่น การพัฒนามาตรฐานการให้บริการผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานบริบาล ทั้งในแง่มาตรฐานวิชาชีพของแรงงาน และมาตรฐานของสถานประกอบการ การขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวในประเทศ การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศยังมีไม่เพียงพอ การขาดเทคโนโลยี จำนวนสถานที่หรือจำนวนเตียงผู้ป่วยยังมีไม่เพียงพอ ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น