ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ให้น้ำหนัก 80% ที่ กนง.จะมีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.25% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ในขณะที่การประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ประเมินว่า กนง.อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการประชุมในเดือนมิถุนายน หรือหลังจากนั้น Fed มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และ ธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ล้วนเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากช่วงต้นปี ที่เงินบาท อ่อนค่ามาก แต่ขณะนี้กลับมาแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยราคาทองคำที่ทำนิวไฮต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลจากสงครามการค้าลดลง แต่ยังวางใจไม่ได้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าช่วงปลายปีเงินบาทอาจไปแตะระดับเกือบ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยปี 2567 เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 2.5 ขยายตัวดีขึ้นกว่าปี 2566 ซึ่งเติบโตร้อยละ 2 ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2568 โดยขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยติดตามการส่งออก และการบริโภคในประเทศ ในขณะที่ท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าของสหรัฐ และการส่งออกรถยนต์หดตัวในปี 2567 ในหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าภาคการส่งออกอย่างไรก็ตาม การบริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวลง และโครงการ digital wallet เฟสต่อไปมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท (หรือร้อยละ 0.8 ของจีดีพี) ซึ่งมีกำหนดเริ่มโครงการในเดือนเมษายนนี้
ส่วนภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี จากต้นปีจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.97 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2562 และคาดว่าตัวเลขจะดีขึ้นอีกในครึ่งปีหลังของปีนี้ และในครึ่งปีหลัง อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของสหรัฐ อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังขาดปัจจัยหนุนอื่น นอกเหนือไปจากการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9ในปี 2568 (เทียบกับร้อยละ 0.6 ในปี 2567) เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 (เทียบกับร้อยละ 0.4 ในปี 2567) การฟื้นตัวของภาคบริโภคเบาบาง ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงกลางปี ก่อนจะเร่งตัวอีกครั้ง
ธนาคารคงประมาณการเงินบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ที่ร้อยละ 4 ของจีดีพี (เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปี 2567) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะกลับเข้าสู่กรอบร้อยละ 1-3 ของ ธปท.