ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 ภาพรวมมูลค่าส่งออกข้าวไทยอาจลดลงร้อยละ 13 เทียบช่วงเดียวกันกับในปี 2566 จาก 5,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 4,495 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 10 เทียบช่วงเดียวกันกับในปีผ่านมา จาก 8.8 ล้านตัน เป็น 7.9 ล้านตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยลดลงร้อยละ 3 เทียบช่วงเดียวกันกับในปี 2566 จาก 587 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็น 569 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สาเหตุหลักมาจากแรงฉุดของมูลค่าการส่งออกข้าวขาวที่ลดลงทั้งในด้านปริมาณและราคา เนื่องจากอินเดียอาจกลับมาส่งออกข้าวขาวหลังการเลือกตั้ง
เมื่อพิจารณามองต่อในปี 2567 การส่งออกข้าวไทยคงลดลง จากคำสั่งซื้อใหม่ของผู้ซื้อหลักที่อาจลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าไปแล้วในปีก่อน แม้บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับอินโดนีเซียและจีน ขณะที่ไทยคงเผชิญเอลนีโญในช่วงไตรมาสแรกของปี ที่จะทำให้เกิดภัยแล้ง สะท้อนจากข้อมูลของ NOAA1 ที่คาดว่าเอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่จากดัชนี Ocean Nino Index (ONI) ที่สูงกว่า 0.5 องศาเซลเซียส อาจต่อเนื่องถึงในเดือน มี.ค. 2567 อีกทั้งปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ณ 7 ก.พ. 2567 ลดลงร้อยละ 8 เทียบช่วงเดียวกันกับในปีผ่านมา กดดันผลผลิตข้าวนาปรัง อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงและเข้าสู่ภาวะเป็นกลางมากขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 จึงอาจกระทบผลผลิตข้าวนาปีไม่มาก ส่งผลต่อภาพรวมผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ให้ยังอยู่ในระดับสูงที่ราว 31 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งมีเพียงพอเพื่อการส่งออก
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างนโยบายส่งออกข้าวอินเดียในปี 2567 จะกระทบการส่งออกข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักอันดับ 1 ของโลกที่ครองสัดส่วนปริมาณส่งออกราวร้อยละ 40 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งในเดือน เม.ย. – พ.ค. นี้
เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลอินเดียของโมดีต้องการรักษาความนิยมและเพื่อควบคุมเงินเฟ้อภายในประเทศ จึงใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าว (ข้าวขาว) ซึ่งคาดว่าคงมีความจำเป็นน้อยลงหากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ประกอบกับ USDA2 คาดว่าผลผลิตข้าวของอินเดียในปี 2567 อาจลดลงไม่มากที่ร้อยละ 2.8 เทียบช่วงเดียวกันกับในปีผ่านมา
ดังนั้นจากการที่อินเดียจะกลับมาส่งออกข้าว ทำให้ไทยเผชิญการแข่งขันด้านราคากับอินเดีย จะกดดันการส่งออกข้าวขาวไทยในปี 2567 ให้ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา (จาก 4.8 ล้านตันเป็น 4 ล้านตัน) ซึ่งเป็นประเภทข้าวที่ไทยส่งออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ไทยมีราคาส่งออกข้าวขาวสูงกว่าอินเดียกระทบส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวขาวไทยในตลาดโลกให้ลดลง
แม้ว่าการส่งออกข้าวขาวจะมีปริมาณลดลง แต่ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าไทยอาจมีปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา (จาก 1.32 ล้านตันเป็น 1.39 ล้านตัน) โดยข้าวหอมมะลิ แม้จะมีสัดส่วนปริมาณส่งออกไม่มากที่ร้อยละ 18 แต่เป็นข้าวเกรดพรีเมียมที่มีราคาขายสูง มีคุณภาพและมีโอกาส โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปีในปี 2557-2561 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 5.2 ต่อปีในปี 2562-2566
ทั้งนี้ ปี 2566 เป็นปีที่การส่งออกข้าวไทยมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 5,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตที่ร้อยละ 29 เทียบกับในปี 2566 ซึ่งเป็นการเติบโตทั้งด้านราคาที่ร้อยละ 13.8 เทียบกับในปี 2566 ตามราคาข้าวโลกที่ปรับสูงขึ้น จากผลของอินเดียงดส่งออกข้าว และด้านปริมาณที่เติบโตร้อยละ 14 เทียบกับในปี 2566 (จาก 7.7 ล้านตันเป็น 8.8 ล้านตัน) จากแรงหนุนผู้ซื้อหลักอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ได้น าเข้าข้าวจำนวนมากเพื่อสต็อกเป็นความมั่นคงด้านอาหาร (ไทยส่งออกไป 3 ประเทศ นี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 590 เทียบกับในปี 2566 และมีสัดส่วนปริมาณส่งออกรวมร้อยละ 26)