ส่งออกยางรถยนต์ไทยไปสหรัฐฯ อาจยังโตต่อ เหตุแข่งขันด้านราคาได้ ความต้องการยังมี แม้เจอมาตรการ Trump 2.0 จ่อถูกเก็บภาษีตอบโต้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าในปี 2568 ส่งออกยางรถยนต์ไทยอาจเจอมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ในอัตราที่เท่าเทียมจากสหรัฐฯ ซึ่งจะไม่กระทบส่งออกยางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพ ทว่าอาจกระทบส่งออกยางรถบัส & รถบรรทุกจากความเสี่ยงด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

โดยการส่งออกยางรถยนต์ไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2568 คาดจะเติบโต 5% โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการส่งออกยางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพ ซึ่งยังสามารถแข่งขันด้านราคาได้ แม้ในกรณีที่ไทยและประเทศคู่แข่งถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ

ปัจจุบันไทยมีบทบาทแค่ไหนในตลาดยางรถยนต์สหรัฐฯ ?
สหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์จากไทยเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 จนล่าสุดในปี 2567 ไทยมีส่วนแบ่งสูงถึง 26% ของตลาดยางรถยนต์นำเข้าของสหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่า 58 ล้านเส้น โดยแบ่งเป็นยางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพ 42 ล้านแส้น และยางรถบัส & รถบรรทุก 16 ล้านเส้น ซึ่งในแต่ละประเภทยาง พบว่า สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยในปริมาณที่สูงกว่าคู่แข่งอันดับ 2 อย่างเม็กซิโก และเวียดนาม ถึงเกือบเท่าตัว

ไทยขึ้นเป็นผู้นำส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯ ได้อย่างไร ?
หลังจีนโดนขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากมาตรการต่างๆของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2558 ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และ “มาตรา 301” เพื่อปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม การเข้ามาลงทุนผลิตยางรถยนต์ในไทยก็เพิ่มขึ้น จนไทยขึ้นเป็นผู้นำส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯ แทนจีน อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2564 สหรัฐฯ ก็ตอบโต้การย้ายฐานส่งออกดังกล่าว โดยปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากไทยภายใต้มาตรการ AD

ยุค Trump 2.0 ยางรถยนต์ไทยจะถูกขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ อีกไหม ?
โอกาสส่งออกยางรถยนต์ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงอีกครั้ง หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า อาจเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ในอัตราเท่าเทียม โดยจะพิจารณาหลังวันที่ 1 เมษายนนี้ กับประเทศที่เกินดุลสูงกับสหรัฐฯ ซึ่งไทยและประเทศคู่แข่งหลักส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯต่างมีโอกาสเป็นหนึ่งในนั้น ไม่รวมคู่แข่งอย่างเม็กซิโกและแคนาดาที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจาในกรณีถูกเรียกเก็บภาษี 25% จากมาตรการปกป้องการค้าอื่นของสหรัฐฯ อัตราภาษีตอบโต้ ที่แต่ละประเทศอาจถูกเก็บนั้น เบื้องต้นน่าจะต่างกันไปตามอัตราภาษีนำเข้าที่ประเทศนั้นๆ เรียกเก็บจากสหรัฐฯ

หากไทยถูกขึ้นภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ การส่งออกยางรถยนต์เป็นเช่นไร ?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากไทยและประเทศคู่แข่งต่างก็ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน ผลกระทบต่อการส่งออกยางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพไทยไปสหรัฐฯ อาจไม่มาก อย่างไรก็ดี ยางรถบัส & รถบรรทุกอาจเผชิญความเสี่ยงจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

-โอกาสการส่งออกยางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพไปสหรัฐฯ – คาดยังไปต่อได้ พิจารณาจากอัตราภาษีนำเข้ายางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพของไทยที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แม้กรณีถูกเก็บภาษีตอบโต้แล้ว เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบันของไทยอยู่ในระดับไม่สูงแค่ 7.82% ซึ่งมากกว่าอัตราภาษีปกติ (MFN rate) 4% ที่เก็บเป็นการทั่วไปเพียงเล็กน้อย และภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ อาจเก็บจากไทยก็อยู่ในอัตราเพียง 10% ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่ง

ราคายางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพจากไทยที่รวมภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แล้ว คาดว่าจะต่ำกว่าคู่แข่งหลักแม้กรณีถูกเก็บภาษีตอบโต้เพิ่ม เนื่องจากทั้งราคานำเข้าตั้งต้นและอัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยอาจถูกเก็บนั้น ต่างอยู่ในอัตราไม่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

-โอกาสการส่งออกยางรถบัส & รถบรรทุกไปสหรัฐฯ – คาดเผชิญความเสี่ยงด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา พิจารณาจากอัตราภาษีนำเข้ายางรถบัส & รถบรรทุกของไทยที่จะสูงกว่าคู่แข่งหากถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบันของไทยสูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้วที่ 16.33% ทำให้แม้จะเจอภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่า แต่อัตราภาษีนำเข้าโดยรวมที่ไทยจะถูกเก็บ ก็จะยังคงอยู่สูงกว่าคู่แข่งทั้งหมด

ราคายางรถบัส & รถบรรทุกจากไทยที่รวมภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แล้ว คาดว่าจะอยู่สูงกว่าคู่แข่ง (รูปที่ 6) โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ที่ราคาต่ำกว่าไทยไม่น้อยกว่า 24% และกำลังทยอยเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ขึ้นเรื่อย ๆ

ปี 2568 ยางรถยนต์ไทยส่งไปสหรัฐฯ ยังมีโอกาสเติบโตหรือไม่ ?
สำหรับปี 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกยางรถยนต์ไทยไปสหรัฐฯ โดยรวมน่าจะยังมีโอกาสขยายตัว 5% หรือคิดเป็นการส่งออกยางรถยนต์รวม 61 ล้านเส้นเพราะยางรถยนต์นั่ง & รถปิกอัพ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 72% ของปริมาณส่งออกยางล้อทุกประเภทไปยังสหรัฐฯ ยังสามารถแข่งขันด้านราคาได้ แม้กรณีที่ไทยและประเทศคู่แข่งถูกเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งคาดกันว่าจะเริ่มหลัง 1 เมษายนนี้ อย่างไรก็ดี กรณีหากไทยเป็นประเทศเดียวที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ หรือคู่แข่งถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ย่อมกระทบความสามารถในการแข่งขันของยางรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles