ส่งออกไทยมิ.ย.โต 15.5% แม้ต่ำกว่าคาด การนำเข้าโต 13.1% ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้า 1,061 ล้านดอลลาร์  แนวโน้มช่วงที่เหลือของปีชะลอตัว ภาษีทรัมป์ เงินบาทแข็งค่าฉุด

นายพูนพงศ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิ.ย.68 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 28,649 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.5% จากตลาดคาดราว 18-19% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,588 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,061 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องกัน 6 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.68

ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.68) การส่งออก มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 166,851 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 166,914 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.6% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า รวม 62.2 ล้านดอลลาร์

โดยปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมิ.ย.นี้ คือ การเร่งส่งออก เนื่องจากประเทศคู่ค้าเร่งสต็อกสินค้าก่อนที่มาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ, แรงส่งต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ เช่น ผลไม้, มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มชะลอตัวลงแน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปีนี้ จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะขยายตัวได้ 2-3% หากจะทำให้การส่งออกของไทย เป็นไปตามเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ 2-3% นั้น ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ จะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,300 – 23,800 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกรายกลุ่มสินค้า ขยายตัวดีในทุกกลุ่มอาทิ  สินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,788.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ,สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 2,203 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.4% ,สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 22,871 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 เป็นต้น 

 ในเดือนมิ.ย.นี้ การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวดี โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ที่ได้รับปัจจัยหนุนต่อเนื่อง จากการเร่งนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้า ก่อนที่มาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้

ส่วนแนวโน้มการส่งออกครึ่งหลังของปี 2568 การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลต่อการค้าไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ ผลของการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก่อนที่ภาษีต่างตอบแทนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค.68 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อทิศทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคตของไทย โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอฉบับใหม่แก่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่เปิดตลาดมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับในทิศทางที่ดี คาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีที่เหมาะสม และยังสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาคได้ หากไทยได้อัตราภาษีในระดับ 18-20% ซึ่งเกาะกลุ่มกันในระดับเดียวกับภูมิภาค ก็จะไม่มีผลกระทบมากต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้…แต่ถ้าโดน 36% มีปัญหาแน่ เพราะเพื่อนบ้านเราได้กันไป 19-20% และเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเยอะ 

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว การสร้างความสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ถือว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยเร่งปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ เพื่อรองรับการกระจายความเสี่ยงการผลิตและลงทุน และยกระดับสภาพแวดล้อมทางการค้าของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลกเพิ่มขึ้น ส่วนการบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ นั้น ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมด้วยมาตรการสนับสนุน ทั้งภาคธุรกิจ และเกษตรกรรม

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง ได้แก่ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด, สงครามในตะวันออกกลาง, การชะลอการลงทุนเพื่อรอดูท่าทีการเจรจา, การปรับตัวของผู้ส่งออกในการปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการลดภาษีของสหรัฐฯ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles